Economics

กำไร ‘เอสซีจี’ ไตรมาส 3 วูบ 35% หลังราคาเคมีภัณฑ์ร่วง

“เอสซีจี” กำไรร่วงลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังธุรกิจเคมิคอลส์กำไรลดลงตามวัฏจักรปิโตรเคมี ชี้สงครามการค้าฉุดภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างกำไรเพิ่มขึ้น พร้อมเผยแผนเร่งเครื่องธุรกิจแพคเกจจิ้งรับโอกาสตลาดเติบโต

1 เอสซีจีแถลงผลประกอบการไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2562

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจีในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2562 มีรายได้จากการขาย 110,330 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,204 ล้านบาท ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 12% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากผลประกอบการที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากมีส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลง การกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำนวน 1,063 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของบริษัทร่วม สงครามการค้าที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทที่แข็งค่า ประกอบกับการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี (assets impairment) จำนวน 762 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำนวน 640 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเซรามิกในต่างประเทศ ทั้งนี้ หากไม่รวมการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีดังกล่าว จะทำให้เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 7,267 ล้านบาท ลดลง 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2562 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 331,803 ล้านบาท ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 24,910 ล้านบาท ลดลง 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รายการสำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ประกอบด้วย ไตรมาสที่ 2 มีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 2,035 ล้านบาท ไตรมาสที่ 3 มีการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำนวน 1,063 ล้านบาท และการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีจำนวน 762 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเซรามิกในต่างประเทศ ประกอบกับความกังวลจากสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ของทั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วม

โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 44,450 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของยอดขายรวม ลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 6% จากไตรมาสก่อน ทำให้ใน 9 เดือนแรกของปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้า HVA 137,077 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของยอดขายรวม ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ใน 9 เดือนแรกของปี 2562 ทั้งสิ้น 134,522 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของยอดขายรวม ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีมูลค่า 611,503 ล้านบาท โดย 35% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

5 นวัตกรรมจากธุรกิจเคมิคอลส์ SMX light weight cap

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2562 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจเคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 44,048 ล้านบาท ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,247 ล้านบาท ลดลง 57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 18% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของบริษัทร่วม รวมถึงการกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2562 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 136,283 ล้านบาท ลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 13,295 ล้านบาท ลดลง 44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าที่ลดลง

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 45,317 ล้านบาท ลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 1% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของตลาดเซรามิกในต่างประเทศ โดยมีกำไรสำหรับงวด 888 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 235% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2562 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 139,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกและการจัดจำหน่าย โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,801 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีรายได้จากการขาย 24,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการรวมผลประกอบการของ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. และ Visy Packaging (Thailand) Limited โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,527 ล้านบาท ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และเพิ่มขึ้น 47% จากไตรมาสก่อน

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2562 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 65,974 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,245 ล้านบาท ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

4 2 นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี

“แม้ผลประกอบการของเอสซีจีในช่วงไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2562 จะได้รับผลกระทบหลักจากธุรกิจเคมิคอลส์ที่มีกำไรลดลงตามวัฏจักรปิโตรเคมี เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลงและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของบริษัทร่วม แต่ธุรกิจเคมิคอลส์ยังมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก โดยล่าสุดได้นำนวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Passion for a Better World ไปจัดแสดงในงานนิทรรศการ K2019 ที่เยอรมนี ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมสินค้าพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาทิ เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยี SMX™ ของเอสซีจี ที่มีความแข็งแรง ทำให้ใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง แนวคิดนวัตกรรม Mono-Material Packaging ที่ทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่าย และเม็ดพลาสติกที่พัฒนาจากสูตรการผสมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษของเอสซีจี กับพลาสติกชนิด Post-Consumer Recycled Resin (PCR) ตลอดจนการบริหารจัดการต้นทุนและการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยังสามารถสร้างรายได้ให้เอสซีจีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดจะค่อนข้างอ่อนตัวลงโดยเฉพาะตลาดเซรามิกในต่างประเทศ แต่เอสซีจียังคงมุ่งเน้นการรุกธุรกิจค้าปลีกและจัดจำหน่าย ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงนวัตกรรมสินค้าและบริการต่างๆ ในทุกช่องทางได้อย่างสะดวกสบาย หลากหลายโซลูชั่น ตลอดจนการพัฒนา Construction Solution ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาการก่อสร้างอย่างครบวงจร พร้อมยกระดับวงการก่อสร้างไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ส่วนธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งมีศักยภาพที่โดดเด่นโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ทำให้เอสซีจีได้อนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัทเอสซีจี แพจเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) ไม่เกิน 30% ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุน และนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต และเพื่อให้ SCGP สามารถระดมทุนมาใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจีทั้งในและต่างประเทศให้เติบโต รวมทั้งเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความพร้อมในการรองรับการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต โดยที่เอสซีจีจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีอำนาจควบคุม SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของเอสซีจีเช่นเดิม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เอสซีจีได้รับประโยชน์กลับมาจากผลการดำเนินงานของ SCGP ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าการเติบโตในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นด้วย

Avatar photo