World News

น้ำท่วมใหญ่เผยจุดอ่อนธุรกิจญี่ปุ่น

เหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งรุนแรงสุดในรอบ 30 ปี ของญี่ปุ่น ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 120 ราย และยังส่งผลให้ธุรกิจ และการขนส่งทางภาคตะวันตกของประเทศ ตกอยู่ในภาวะอัมพาต สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ในการรับมือต่อสถานการณ์น้ำท่วม

000 17D1KH

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า การวางแผนรับมือภัยพิบัติที่ขาดประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ทำให้หลายบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้

บริษัทด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายหนึ่ง ยอมรับว่า มีการวางแผนธุรกิจสำหรับรับมือกรณีแผ่นดินไหวเท่านั้น แต่ไม่ได้วางแผนไว้สำหรับฝนตกหนักแต่อย่างใด

ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในปีงบประมาณ 2560 แสดงให้เห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่ล้วนแต่มีการวางแผนเพื่อให้ทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีเพียง 30% เท่านั้น ที่มีการวางแผนให้ครอบคลุมถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมด้วย

เมื่อวันที่ 9 กรกฏาคมที่ผ่านมา พานาโซนิค บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของญี่ปุ่น ประกาศระงับการผลิตที่โรงงานในเขตโอกายามา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกล้องวีดิโอ หลังจากน้ำในแม่น้ำที่ใกล้กับโรงงานเอ่อล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมชั้นแรกของโรงงาน และทำให้ห้องควบคุมไฟฟ้าจมน้ำ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์กว่าที่จะกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้อีกครั้ง

000 17A6R8

ภัยพิบัติครั้งนี้ ส่งผลกระทบอย่างหนักทั้งกับบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ร้านค้าและโรงงาน สร้างความเสียหายให้กับซัพพลายเชน ไม่มีน้ำประปา และไฟฟ้าใช้

อาซาฮี ชูโซ ผู้ผลิตสาเกแบรนด์ยอดนิยม “ดัสไซ” ระงับการผลิตตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ และน้ำท่วมสำนักงานใหญ่ และโรงงานผลิตของบริษัท โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาร่วมเดือน กว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้

ปัญหาด้านซัพพลายเชนยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างถึงนอกพื้นที่ภัยพิบัติ โดยมิตซูบิชิ ฟูโซ ทรัค แอนด์ บัส ต้องปิดโรงงานหลักในเมืองคาวาซากิ ใกล้กับกรุงโตเกียว ตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ (9 ก.ค.) ต่อเนื่องถึงวันนี้ (10 ก.ค.) เพราะขาดชิ้นส่วนในการผลิต

000 17D2H2

ทั้งนี้ ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ และดินถล่มในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น พุ่งขึ้นถึงอย่างน้อย 126 ราย และยังมีผู้สูญหายอีกมากกว่า 80 คน ทั้งยังมีคนไร้ที่อยู่อีกหลายหมื่นคน

จำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นการสูญเสียครั้งร้ายแรงสุดจากเหตุอุทกภัย ที่มีสาเหตุมาจากฝนตกในญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา
แม้ล่าสุด พื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติจะมีปริมาณฝนลดลงแล้ว แต่กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ก็ยังออกประกาศเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มเพิ่มขึ้น

นับจนถึงเมื่อคืนนี้ (9 ก.ค.) ยังมีผู้พักอยู่ในศูนย์อพยพใน 15 เขตทั่วพื้นที่ภัยพิบัติ ราว 11,000 คน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight