Economics

‘ธีระชัย’ ร่ายยาวข้องใจ ‘มักกะสัน-อู่ตะเภา 45 นาที ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?’

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กเพจ  Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า “มักกะสัน-อู่ตะเภา 45 นาที ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?”

รูปข้างล่างคงจะอ้างตามโฆษณาของกลุ่มซีพี แต่ถามว่า ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?  ถามว่าถ้าจะเดินทางได้ 45 นาทีจริง ต้องใช้ความเร็วเท่าไหร? ต้องสูงกว่า 250 กม/ชม หรือไม่?

ลองดูระยะทางระหว่างแต่ละสถานี

มักกะสัน-สุวรรณภูมิ 27 กม
สุวรรณภูมิ-ฉะเชิงเทรา 60 กม
ฉะเชิงเทรา-อ.เมือง ชลบุรี 43 กม
อ.เมือง ชลบุรี-ศรีราชา 15 กม
ศรีราชา-พัทยา 31 กม
พัทยา-อู่ตะเภา 38 กม

ระยะทางรวมจากมักกะสัน-อู่ตะเภา 214 กม ถ้าจะเดินทางให้ได้ 45 นาที ตามที่โปรโมทไว้ ก็ต้องจอดสถานีแป๊บเดียว เพียง 1 นาที 5 สถานีจอดรวม 5 นาที เวลาวิ่งของรถไฟจะเป็น 40 นาที เวลา 40 นาที รวมช่วงเร่งความเร็ว ช่วงรักษาความเร็ว และช่วงชะลอเพื่อเข้าจอดสถานี ระยะทาง 214 กม จะต้องมีความเร็วเฉลี่ยสูงลิบถึง 320 กม/ชม

แต่อนิจจา โฆษณาความเร็วสูงสุดไว้แค่ 250 กม/ชม สรุปแล้ว ต้องถามว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์ใด? น่าสงสัยว่า 45 นาทีนั้น บอร์ด อีอีซี ยอมให้ถูกหลอกหรือเปล่า

ถามว่า ถ้าใช้ความเร็วสูงสุด 250 ตามระยะทางระหว่างสถานีที่มีอยู่จริง จะใช้เวลาจริงเท่าไหร่?

fig 03 04 2019 13 36 55

ถ้าสมมุติว่า การเร่งความเร็วจาก 0 ขึ้นไปถึง 250 ต้องใช้ระยะทาง 5 กม และการชะลอจาก 250 กลับเป็น 0 ก็ใช้ระยะทาง 5 กม เท่ากัน รวมกินระยะทางแต่ละด้าน 10 กม ระหว่าง 7 สถานี ระยะทางเร่งและชะลอจะเท่ากับ 60 กม ความเร็วเฉลี่ยของระยะทางนี้ คือครึ่งหนึ่งของ 250 เท่ากับ 125 ดังนั้น จะใช้เวลาเฉพาะในการเร่งและชะลอความเร็ว 29 นาที

ระยะทางที่รักษาความเร็วได้ 250 กม/ชม จะเหลือเท่าไหร? ต้องเอา 214 กม หักด้วย 60 กม เหลือ 154 กม ซึ่งถ้าทำความเร็ว 250 จะใช้เวลาอีก 37 นาที คำนวนอย่างนี้ จอดตามสถานี 5 นาที เร่งและชะลออีก 29 นาที รักษาความเร็วอีก 37 นาที รวม 71 นาที ไม่ใช่ 45 นาที ดังนั้น ที่ว่าเดินทางได้ 45 นาทีนั้น ก็เพื่อให้บอร์ด อีอีซี นอนหลับฝันกลางวันได้เท่านั้น

ถามว่า ถ้ารถไฟความเร็วสูงสุด 250 กม/ชม ตามระยะทางระหว่างสถานีที่มีอยู่จริง จะได้ความเร็วเฉลี่ยจริงเท่าไหร่?

ต้องนับเฉพาะเวลาที่รถวิ่ง(โดยไม่รวมเวลาจอด)คือ เร่งและชะลอ 29 นาที รักษาความเร็วอีก 37 นาที รวม 66 นาที ดังนั้น ระยะทางรวม 214 กม จึงคำนวนความเร็วเฉลี่ยได้เท่ากับ 195 กม/ชม ไม่ใช่ 250 กม/ชม  ยิ่งการเร่งและชะลอความเร็ว ถ้าใช้ระยะทางสูงขึ้น เช่นด้านละ 7 กม ความเร็วเฉลี่ยจะเหลือเพียง 180 กม/ชม

ถามว่า เปรียบเทียบระหว่างเอกชนทำรถไฟความเร็วสูง กับ ร.ฟ.ท. ทำรถไฟความเร็วปานกลาง ประเทศชาติได้เสียอย่างไร?

S 23863385

กรณีไฮสปีด

ต้องสนับสนุนด้วยทรัพยากรของประชาชน (1) ร.ฟ.ท.จ่ายเงินสด 1 แสนล้าน (2) เสียที่มักกะสัน โดยได้ค่าเช่าเพียง 10-15% ของราคาตลาดอีก 1.5 แสนล้าน (3) เสียแอร์พอร์ตเรลลิงค์ที่ลงทุนไป 3 หมื่นล้าน รวม 2.8 แสนล้าน

กรณีความเร็วปานกลาง

ร.ฟ.ท. จะลงทุนเพียง 5 หมื่นล้าน และไม่เสี่ยงค่าโง่ ไม่มีปัญหาส่งมอบเพราะใช้พื้นที่เดิม รวมทั้งยังจะใช้ที่มักกะสันแก้ฐานะ ปรับปรุง ร.ฟ.ท. ครั้งใหญ่ได้อีกด้วย

รัฐบาลยอมให้มีการตบตา เพื่อฉกเอาที่มักกะสันของประชาชนออกไป หรือไม่? ทำอย่างนี้แล้ว ร.ฟ.ท. จะเหลืออะไรที่ใช้แก้ปัญหาตัวเอง ต้องไม่ลืมว่าสาธารณสมบัติของแผ่นดินชิ้นนี้เป็นของที่ ร.5 พระราชทานให้เป็นสมบัติแก่พสกนิกร การทำพิธีบวงสรวงเพื่อจะปล้นแผ่นดินกลางแดด ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนศรัทธา

ส่วนสื่อที่เชียร์รัฐบาลอย่างไม่ลืมหูลืมตา บอกว่าอย่าไปอิจฉาคนรวย แต่กลับไม่เดือดร้อนกับทุจริตเชิงนโยบายนั้น ขาดความเข้าใจพื้นฐาน คนรวยที่ค้าขายอย่างเป็นธรรมนั้น เราชื่นชม แต่คนที่รวยจากการจับมือกับขุนศึกและนักการเมืองที่รับใช้นายทุน เพื่อปล้นประชาชนนั้น เรารังเกียจน่าเสียดายที่พรรคร่วมก็ทำเมินเฉย โดยเฉพาะภูมิใจไทยที่หัวหน้าเข้าใจเรื่องธุรกิจดี กลับทอดทิ้งประชาชน

จนป่านนี้ โครงการสองแสนล้าน ที่อ้างว่ามีผลดีต่อเศรษฐกิจหกแสนล้าน ยังปกปิดข้อมูลแบบมิดชิด กอดอยู่ที่หน้าอกแบบควบแน่น

ยิ่งกลัวประชาชนจะรู้ ยิ่งสงสัยว่า มีการรับเงินทอนกันกระมัง?

หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

 

555

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight