Entertainment

จากจิตแพทย์ถึง ‘รอยยิ้มที่หายไปของ ซอลลี่ f(x)’ ชี้มีเด็ก-วัยรุ่น ฆ่าตัวตายจากไซเบอร์บูลลี่

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา แฟนเพจเฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา ของ พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นชื่อดัง ได้มีการโพสต์ข้อความเรื่อง รอยยิ้มที่หายไปของ ชเว จิน-รี หรือ  “ซอลลี่” อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง f(x) และนักแสดงประเทศเกาหลีใต้ ที่เลือกจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 25 ปี ภายในบ้านพักของตัวเอง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา

1 ซอลลี่ 6

โดยระบุว่า “เมื่อวานมีข่าวการเสียชีวิตของ เชวจินรี หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อว่า ซอลลี่ ดาราและนักร้องชื่อดังชาวเกาหลีใต้ ในวัยเพียง 25 ปี หมอเคยได้ติดตามผลงานของซอลลี่ในช่วงเวลาที่เธอเป็นสมาชิกของวงเกิร์ลกรุ๊ป f(x) และเคยดูซีรีส์ที่เธอแสดงเป็นนางเอก เรื่อง ‘To a beautiful you’ เมื่อได้ทราบจึงรู้สึกตกใจกับข่าวการเสียชีวิตของเธอพอสมควร

ที่ผ่านมาหากใครได้ติดตามข่าว ซอลลี่ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying หรือ ‘การระรานทางไซเบอร์’ มาตลอด โดยเฉพาะใน Instagram ที่มีผู้ติดตามเธอกว่า 5 ล้านคน ในโอกาสนี้หมอขอเขียนบทความเพื่อให้สังคมได้มีการตระหนักถึงพิษภัยจากโลกออนไลน์ อย่าง Cyberbullying ว่าจริง ๆ แล้ว คืออะไร และเพราะอะไรมันจึงมีผลกระทบกับเหยื่ออย่างยิ่ง

ที่ผ่านมาเราอาจรู้จักการกลั่นแกล้งทั่ว ๆ ไป ที่เกิดเฉพาะสถานที่ เช่น การรังแกกันในโรงเรียน ห้องเรียน ซึ่งหากเป็น Cyberbullying มันจะมีความพิเศษที่แตกต่างไป สำหรับ Cyberbullying ผู้กระทำการกลั่นแกล้งระรานคนอื่นบนโลกไซเบอร์ ‘ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน’ (Anonymous) เหยื่อมักไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำการกลั่นแกล้ง หรือเพราะอะไรที่ตนเองถูกกลั่นแกล้ง เมื่อไม่ต้องเปิดเผยตัวตนจึงทำให้การกลั่นแกล้งอาจรุนแรงกว่าการกลั่นแกล้งที่เปิดเผยตัวตนตามปกติ (เหมือนที่เรามักจะเห็นคอมเมนต์ตำหนิด่าว่าใครสักคนอย่างรุนแรง ตาม Facebook หรือ Instagram ต่าง ๆ) และ Cyberbullying สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ที่เหยื่อเปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

1 ซอลลี่ 3

ดังนั้นจึงมีลักษณะที่คุกคามมากกว่าการกลั่นแกล้งดั้งเดิม นอกจากนั้นมันสามารถถูกเผยแพร่ไปได้ไกลในเวลาอันรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ต ไปถึงชุมชนภายในโรงเรียนหรือกว้างกว่านั้น ไม่ได้จำกัดในสถานที่ใด ทำให้ผลกระทบที่ตามมารุนแรง ทำให้เหยื่อเกิดความอับอาย Cyberbullying ที่พบบ่อย ได้แก่ การตั้งฉายา การดูถูกเหยียดหยาม การเผยแพร่ข่าวลือหรือนินทาว่าร้าย และการส่งต่อรูปภาพที่ไม่เหมาะสม การรวมกลุ่มกันเพื่อกลั่นแกล้ง ผู้ใหญ่และคนรอบข้างควรมีความเข้าใจอาการแสดงของคนที่ถูก Cyberbullying เพราะเด็กมักจะไม่ได้เล่าเรื่องราวนี้ตั้งแต่แรกให้ผู้ปกครองฟัง

อาการมีได้หลากหลาย เช่น หลีกเลี่ยงที่จะไปโรงเรียน (มีพฤติกรรมหนีเรียนหรือขาดเรียนบ่อย อาจหยุดเรียนเพราะมีภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย ไม่เต็มใจที่จะเข้าเรียน หรือมีปัญหาการเรียนอื่นๆ) มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำลง มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลที่มากขึ้น มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย (เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ) นอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อย ๆ ห่างเหินหรือหลีกเลี่ยงตัวเองจากกลุ่มเพื่อน อยู่ดี ๆ มีอาการแยกตัว เก็บตัวอยู่คนเดียวเวลาอยู่ที่บ้าน อาการหงุดหงิด โกรธ โมโห ง่ายกว่าปกติ และที่เราห่วงมากที่สุดคือ พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง มีเด็กและวัยรุ่นมากมายที่ฆ่าตัวตายและมีประวัติว่าถูก Cyberbullying ด้วย

1 ซอลลี่ 5

จากการสำรวจเด็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่ามีเด็กราว ๆ 48% ที่อยู่ในวงจร  Cyberbullying โดยอาจเป็นทั้งผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือเป็นผู้ที่พบเห็น พบว่าเด็กส่วนใหญ่อยู่ในชั้นมัธยมต้น ซอลลี่เป็นคนที่มีรอยยิ้มที่สวยสดใส แต่วันนี้รอยยิ้มของเธอหายไปแล้ว ในกรณีการเสียชีวิตของซอลลี่ เราควรระวังการส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงไปในโลกออนไลน์ มิฉะนั้นเราก็จะกลายเป็นคนที่ Cyberbullying ซอลลี่และญาติของเธอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจก็ได้

เราจะเก็บภาพรอยยิ้มของซอลลี่ไว้ในความทรงจำ และหวังว่ามันจะทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ และระมัดระวังในการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพราะคำพูดและสิ่งที่เราโพสต์ไป เป็นความคิดชั่วแล่น ตรงนั้นอาจจะทำร้ายจิตใจใครสักคนที่มาอ่านก็เป็นไปได้ หากคุณกำลังตกเป็นเหยื่อของการ Cyberbullying หรือสงสัยว่ากำลังซึมเศร้า หรือเครียด ในเบื้องต้นสามารถโทร. ไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่องค์กรสมาริตันส์ ประเทศไทย 02713-6793 (ภาษาไทย เวลา12.00 – 22.00) กับ 02713-6791 (ภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมง)”

 

Avatar photo