Finance

เปิดสถิติไตรมาส 3 รอบ 10 ปี ‘หุ้นไทยฟื้นมากกว่าทรุด’

เริ่มก้าวเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปี 2561 ดัชนีหุ้นไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวได้บ้าง และโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ประเมินแนวโน้ม โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม 2561 น่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นให้เห็นเป็นระยะ แต่ปัจจัยที่ยังกดดันและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจะเป็นเรื่องของสงครามการค้าของสหรัฐและจีน พร้อมจะลุกลามบานปลายได้ตลอดเวลา และเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะทำให้ตลาดการเงินโลกปั่นป่วนได้อีกต่อไป

แม้ปัจจัยภายนอกดูเหมือนจะไว้ใจไม่ได้ แต่ปัจจัยที่หลายๆคนหวังว่าจะประคองดัชนีหุ้นไทยไม่ให้ลงลึกเกินไป ก็คือ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดงวดไตรมาส 2 และงวดครึ่งปีแรกของปี 2561 ซึ่งจะเริ่มทยอยประกาศออกมาในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมนี้ ขณะเดียวกันจะการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยประคับประคองดัชนีด้วยอีกทาง

ดัชนีหุ้นไทยไตรมาส3 รอบ 10ปี

ทั้งนี้ จากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังของดัชนีตลาดหุ้นไทยในรอบไตรมาส 3 ของทุกปี ย้อนหลังไป 10 ปีของตลาดหุ้นไทย พบว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมากกว่าปรับตัวลดลง ดังนั้น สถิติก็อาจจะบ่งชี้ถึงอนาคตได้พอสมควร โดย ดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน พบว่า ไตรมาส 3 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 ปี และลดลง 4 ปี ประกอบด้วย ไตรมาส 3 ปี 2560 ดัชนีเพิ่มขึ้น 6.25% ไตรมาส 3 ปี 2559 ดัชนีเพิ่มขึ้น 2.65% ไตรมาส 3 ปี 2557 เพิ่มขึ้น 6.73% ไตรมาส 3 ปี 2555 เพิ่มขึ้น 10.81% ไตรมาส 3 ปี 2553 เพิ่มขึ้น 22.32% ไตรมาส 3 ปี 2552 เพิ่มขึ้น 20.02%

ขณะที่ไตรมาส 3 ปี 2558 ดัชนีปรับลดลง 10.34% ไตรมาส 3 ปี 2556 ลดลง 4.73% ไตรมาส 3 ปี 2554 ลดลง 12.03% ไตรมาส 3 ปี2551 ลดลง 22.39%

สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ให้ความเห็นว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3 ปี 2561 ดัชนีหุ้นน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส เนื่องจากมีปัจจัยกดดันในหลายประเด็น แต่ยังมีความหวังเพราะที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากระดับสูงสุดมากกว่า 200 จุดแล้ว แต่ยังมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้อีก 50-100 จุด ซึ่งเมื่อปรับลดลงมาก็จะทำให้สะท้อนมูลค่าพื้นฐานของตลาดให้มีความน่าสนใจเข้ามาลงทุนอีกครั้ง

“ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยที่กดดันหลายอย่าง ทั้งเรื่องสงครามการค้าที่ยังไม่จบ การขึ้นอัตราดอกเบี้่ยของสหรัฐต่อเนื่องในปีนี้ ขณะที่กำหนดระยะเวลาการเลือกตั้งยังมีโอกาสเลื่อนออกไปอีก ดังนั้นดัชนีหุ้นไทยจึงมีโอกาสที่จะปรับลดลงมาแตะที่ระดับ 1,550 จุด  และถ้าไม่สามารถต้านแรงขายได้ดัชนีมีโอกาสจะลดลงมาที่ 1,500 จุด ซึ่งเป็นแนวรับที่สำคัญแนวใหญ่ ซึ่งจะทำให้ค่าพีอีเรโชของตลาดหุ้นไทยลดลง จนถึงจุดที่เงินจะไหลกลับเข้ามาลงทุนได้ ทำให้คาดว่าปลายไตรมาส3หรือต้นไตรมาส4 ดัชนีหุ้นมีโอกาสดีดกลับขึ้นมาได้

set30

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้ลงทุนระยะกลางถึงยาว และเลือกหุ้นบูลชิพที่มีราคาปรับลดลงมาแรง

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า ภาพรวมการลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2561 คาดหวังการฟื้นตัวของดัชนีขึ้นทดสอบที่ 1,660-1,680 จุด ซึ่งมูลค่าพื้นฐานตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีแล้ว และหากสงครามการค้าคลายตัวลง ย่อมเป็นบวกต่อกระแสเงินทุนต่างชาติที่ขายสุทธิไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2561 อาจกลับเข้ามาซื้อกลับ ( Covered short) หุ้นไทยได้เช่นกัน

ส่วนประเด็นการลงทุนในไตรมาส 3 ปีนี้ให้ทยอยสะสมหุ้นปันผลเด่น ก่อนขึ้นเครื่องหมายรับสิทธิ์เงินปันผล( XD) ราว 1-2 เดือน หรือเลือกหุ้นแบบราคาลดปรับตัวลงมามากและซื้อขายใกล้เคียง หรือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย พีอีเรโชระยะยาว 5 ปี แต่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ด้าน บล.ทรีนีตี้ แนะนำกลยุทธ์การลงทุนนั้น ยังคงประเมินว่า ดัชนีหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวสู่ระดับ 1,650 จุดในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังคาดการณ์หุ้นขนาดใหญ่มีโอกาสปรับตัวรีบาวด์กลับ แต่ดัชนีจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ถึง 1,700 จุดหรือไม่นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนเป็นสำคัญ หากหุ้นขนาดใหญ่อาทิเช่นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ค้าปลีก ออกมามีPositive surprise ก็อาจจะทำให้ดัชนีไต่ระดับขึ้นถึงจุดดังกล่าวได้เช่นกัน

ทั้งนี้ มองกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจได้แก่หุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 ที่มีการปรับฐานลงมาแรงจนมีมูลค่าพื้นฐานอยู่ในระดับที่น่าสนใจ และคาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในระดับที่เหมาะสม เช่น PTT และ SCC เป็นต้น ส่วนในกรณีแย่สุด มองโอกาสจะปรับลดลง (Downside) ของดัชนีที่ระดับ 1,550 จุด ซึ่งคำนวณจากระดับพีอีปัจจุบันที่ 14.1 เท่า แนวรับ  1,579  แนวต้าน 1,622

นอกจากนี้ บล.เอเซียพลัส เชื่อว่าดัชนีระดับ 1,600 จุด สะท้อนกำไรสุทธิของตลาดในปี 2562 ลดลง 15% จากผลกระทบของสงครามการค้า  ซึ่งตลาดหุ้นโลกยังถูกกดดันจากสงครามการค้า ซึ่งมีผลแล้วในเดือนกรกฎาคมนี้ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นหากสหรัฐและประเทศคู่ค้ามีการตอบโต้ทั้งมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและมูลค่าการค้าโลกตั้งแต่ปี 2562 และอาจยาวไปจนปี 2563

setswing3

สำหรับไทยแม้จะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่น่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบและส่วนประกอบไปยังจีน และน่าจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนปี 2562 มีโอกาสที่จะลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ประเมินไว้ที่ 1.1 ล้านล้านบาท (กำไรสุทธิต่อหุ้นที่ 116 บาท)

ฝ่ายวิจัยประเมินว่า ทุกๆ 5% ของกำไรตลาดฯ ที่ลดลงจากประมาณการเดิม ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2562 หายไปราว 5.75 หมื่นล้านบาท ในกรณีเลวร้ายหากกำไรตลาดลดลง 20% จากประมาณการเดิม จะกระทบต่อดัชนีเป้าหมายปี 2562 ให้ลดลงจาก 1,854.23 จุด มาอยู่ที่ 1,483.39 จุด (อิงพีอีเรโช16 เท่า)

ขณะที่ปี 2561 แม้ผลจากสงครามการค้าจะกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่มากนัก แต่ดัชนีเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยประเมินที่ 1,772 จุด มีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จึงอยู่ระหว่างการทบทวนดัชนีเป้าหมายปี 2561 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท่าทีของสหรัฐว่าจะดำเนินนโยบายทางการค้าอย่างไร แต่เชื่อว่าตลาดปัจจุบันสะท้อนความเสี่ยงสงครามการค้าไประดับหนึ่งแล้ว

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight