General

เผยผลสำเร็จ ‘6 โมเดล’ แม่ฮ่องสอน ต้นแบบ ‘แก้ยากจน’

สสว. จับมือ ส่วนราชการในพื้นที่ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน แถลงความสําเร็จโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัด แม่ฮ่องสอน หลังประสบความสําเร็จในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนเมืองสามหมอกให้ดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ผ่าน 6 โมเดลต้นแบบ รวม 7 กิจกรรม 10 กลุ่มวิสาหกิจ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั้งโครงการ ร่วม 30 ล้านบาท

AW9A0457

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง กลุ่มภารกิจด้านรายได้ เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีปิดโครงการต้นแบบ การแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่า จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากการที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจราชการ ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 และ สั่งการให้แก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยส่งเสริมอาชีพหรือผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวแม่ฮ่องสอน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0

นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ได้มอบหมายให้ สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารโครงการและสนับสนุนงบประมาณ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อดําเนินโครงการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุมทุกมิติทั้งใน ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลบางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าว ว่า สสว.จึงได้จัดทําโครงการต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงผ่าน 6 โมเดลต้นแบบ 7 กิจกรรม 10 กลุ่มวิสาหกิจ ได้แก่

1569477480 2

1. ต้นแบบการส่งเสริมการรวมกลุ่มวิสาหกิจพร้อมนํางานวิจัยมาใช้แบบครบวงจร กิจกรรมส่งเสริมต้นแบบการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อการปลูกบุกผสมผสานพืชอื่นโดยการนํางานวิจัยมาใช้ แบบครบวงจร แก่สมาชิกโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดําริฯ รวม 300 ครัวเรือน สามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละไม่น้อยกว่า 28,500 บาท/ปี ในปีแรก และปีต่อไปเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 32,000 บาท / ปี และภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 8.55 ล้านบาท

2. ต้นแบบการพัฒนายกระดับการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า กิจกรรมพัฒนายกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่ากลุ่มโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดําริฯ ณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดําริ จำนวน 15 ครัวเรือน และ เครือข่ายผลผลิต จำนวน 200 ครัวเรือน สามารถเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนในกลุ่มผลิตสินค้าผ่านการจ้างงานเฉลี่ยครัวเรือนละไม่น้อยกว่า 79,000 บาท/ปี สร้างรายได้ให้เครือข่ายที่ขายผลผลิตครัวเรือนละ 4,200 บาท/ปี ในส่วนของการผลิตสินค้าจะมีรายได้ประมาณ 2.7 ล้านบาท/ปี จากการขายสินค้า โดยภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 4.98 ล้านบาท

3. ต้นแบบการเพิ่มศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กิจกรรมเพิ่มศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ได้แก่ กลุ่มกาแฟบ้านแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จำนวน 25 ครัวเรือน และเครือข่าย 11 ครัวเรือน, กลุ่มกาแฟบ้านสบป่อง อ.ปางมะผ้า จำนวน 25 ครัวเรือน, กลุ่มกระเทียมบ้านนาปลาจาด อ.เมือง จำนวน 25 ครัวเรือน, กลุ่มข้าวบ้านปางหมู อ.เมือง จำนวน 128 ครัวเรือน ซึ่ง 4 กลุ่มจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการผลักดันให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพในการผลิต พร้อมด้วยการผ่านมาตรฐานที่จำเป็น เช่น อย. รวมถึงการใช้สื่อดิจิตอลมาเป็นช่องทางการค้า โดยภาพรวมช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 4.18 ล้านบาท

6BD1E63B A5B6 4BA0 AEF5 5314B13D4841

4. ต้นแบบการนําผลผลิตจากวนเกษตรมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ กิจกรรมยกระดับการนําผลผลิตจากวนเกษตร (ไผ่) มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านแม่สะกึด บ้านห้วยเดื่อ บ้านป่าปุ๊ และบ้านผาบ่อง ต. ผาบ่อง อ.เมือง รวม 11 ครัวเรือน และเครือข่าย 14 ครัวเรือน มุ่งเน้นการถ่ายทอดทักษะในการผลิต ตลอดจนกรรมวิธีการผลิตและรูปแบบการผลิตใหม่ๆ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ทันสมัย กว่า 11 ผลิตภัณฑ์ ในภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 2.35 ล้านบาท

5. ต้นแบบการเพิ่มศักยภาพผู้เลี้ยงไก่และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะ กิจกรรมเพิ่มศักยภาพกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะ แก่สมาชิกศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตาม พระราชดําริ จำนวน 20 ครัวเรือน มุ่งเน้นในการนำเครื่องมือเครื่องใช้สมัยใหม่มาใช้ยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตในมิติต่างๆ โดยสามารถเพิ่มรายได้ครัวเรือน และภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1.16 ล้านบาท, กิจกรรมเพิ่มศักยภาพกลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน ตามแนวพระราชดําริ บ้านต่อแพ อ.ขุนยวม จำนวน 39 ครัวเรือน มุ่งเน้นการนำมาตรฐาน GFM มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มให้ครัวเรือน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 3.18 ล้านบาท

กาแฟแม่เหาะ

6. ต้นแบบการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า พร้อมพัฒนาช่องทางตลาด กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใน พระบรมราชูปถัมภ์ รวม 350 ราย พร้อมจัดทําสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ครอบคลุม 7 อําเภอ มุ่งเน้นการ ยกระดับฝีมือและทักษะในการผลิตสินค้า รวมทั้งเสริมสร้างแนวคิดใหม่ๆ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ จำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ โดยมีผู้เข้าไปเยี่ยมชมแล้วกว่า 1,440 ราย ภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 4.81 ล้านบาท

โครงการนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมอาชีพแล้ว สิ่งสำคัญคือ วิสาหกิจชุมชนยังได้รับความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าของตนเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานตามหลักสากล พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจําหน่ายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ทําให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น

Avatar photo