COLUMNISTS

‘อัลไซเมอร์’ โลกส่วนตัวในวันที่จำลูกหลานไม่ได้!

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
6709

ด้วยความชราย่างกรายเข้ามา ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่โรคต่าง ๆ จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ ภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ ถึงแม้ปัจจุบันโลกเรา กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และประเทศญี่ปุ่นนำหน้าก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศไทยถึง 10 ปี ถ้าย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครรู้จักโรคนี้ แต่ ณ ปัจจุบัน คนเป็นโรคอัลไซเมอร์ กันเยอะขึ้น ชนิดเป็นญาติใกล้ตัว เป็นเพื่อนหรือเป็นคนข้างบ้าน เสียด้วยซ้ำ

DEB13C1B 437E 4D05 9375 3390608C0235

จากสถิติทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย พบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ถึง 3 – 6% และแน่นอน พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (อีกแล้ว) ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ามีการศึกษาวิจัยโรคนี้อย่างต่อเนื่อง และมีข้อมูลใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้แน่ชัด ทำให้ยังไม่มีการรักษาโรคนี้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาหารต่าง ๆ ของโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง

ศาสตราจารย์นายแพทย์กัมมันต์ พันธุมจินดา นายกสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย ท่านกล่าวตอนหนึ่งได้อย่างน่าสนใจว่า “โรคอัลไซเมอร์ นับเป็นโรคหนึ่งในผู้สูงอายุที่โลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยมากที่สุด”

อาการของโรคอัลไซเมอร์

อาการเริ่มแรก มักจเป็นการลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ๆ ไม่นาน แต่จะจำได้แม่น สำหรับความจำในเรื่องราวในอดีต อาจจะมีการถามซ้ำในเรื่องเดิมที่เพิ่งบอกไป หรือ พูดซ้ำ ๆ ในเรื่องที่เพิ่งเล่าให้ฟัง รวมถึงพฤติกรรมที่มีอาการหลงลืม เช่น วางของแล้วลืม, สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ต่าง ๆ, การตัดสินใจแย่ลง ไม่เฉียบคมเหมือนสมัยก่อน อาการเหล่านี้ จะค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงาน และกิจวัตรประจำวัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช้าหรือเร็วขึ้นก็ขึ้นกับระดับความสามารถเดิม รวมถึงความเอาใจใส่ของลูกหลานด้วย

การดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไป

การดำเนินของโรคอัลไซเมอร์ จะค่อยเป็นค่อยไป และทรุดลงในช่วงระยะ 1-3 ปี จะมีปัญหาเรื่องวันเวลา สถานที่ และอาจหลงลืมทางกลับบ้าน โดยเฉพาะกลางคืนอาจไม่นอนทั้งคืน จะออกนอกบ้าน หยุดงานอดิเรก เช่น เก็บกวาดบ้านต่าง ๆ ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ ส่วนหนึ่ง เพราะดูและอ่านไม่เข้าใจ คิดคำนวณไม่ได้ ทอนเงินไม่ถูก เมื่อเวลาผ่านไปอีก 2 – 3 ปี อาการยิ่งทรุดหนัก ความจำแย่ลงมาก จำญาติไม่ได้ เคลื่อนไหวช้าลง ไม่ยอมเดิน หรือ เดินก็จะก้าวขาไม่ออก ไม่ค่อยยอมเดิน ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองไม่ได้ เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน รับประทานอาหารเองไม่ได้ พูดน้อยลง กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้ ต้องมีคนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จะเสียชีวิตในเวลา 2 – 10 ปี และโดยเฉลี่ยจะ 10 ปีด้วยโรคแทรก เช่น ติดเชื้อจากปอดบวม หรือ แผลกดทับ

การรักษาโรคอัลไซเมอร์

อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ว่า โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการใช้ยารักษา และการจัดการดูแลที่จะช่วยบรรเทาอาการด้านความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยได้เพียงชั่วคราว หรืออาจทำให้การพัฒนาการของโรคนี้ช้าลงได้ในบางราย และเป้าหมายของการดูแลรักษา จะเป็นการเน้นให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วยนั้นมีความสุขไปด้วยกัน ไม่เช่นนั้น อาจเกิดความเครียด หงุดหงิด ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วยได้

แนวทางป้องกันโรคอัลไซเมอร์

คือ ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะอะไร ? เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้ จะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือด พร้อมลดพฤติกรรมเสี่ยง ดังนี้

  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • เลิกการสูบบุหรี่
  • ตรวจและควบคุมระดับความดันเลือด
  • เน้นการออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน (ขั้นต่ำ)
  • เน้นการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นทานผลไม้ ผัก อย่างน้อย 5 ส่วน

อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะได้เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ เพราะเราไม่สามารถอยู่เป็นอมตะได้ อย่างที่มีคำกล่าวว่า “รู้ทันอัลไซเมอร์ ก่อนลืมคนที่เรารัก” ฉบับหน้า เราจะมาคุยกันในเรื่อง Aging Society กันต่อ ด้วยเพราะดิฉันมีแพลนไปงาน H.C.R.2019 International Home Care & Rehabilitation Exhibition ถือเป็นงาน Aging Society ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ไม่ว่าจะรวมทั้งอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ, Bio Pharma, Bio Skin Care และอื่น ๆ อีกมากมาย น่าสนใจมาก จัดเป็นครั้งที่ 46 แล้วคะ ที่ Tokyo Big sight กรุงโตเกียว เพื่อน ๆ ท่านใดไปร่วมงาน เจอะเจอกัน ทักกันได้นะคะ วันนี้ สวัสดีค่ะ

(เครดิต : ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา)
(เครดิต : เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ)
#KINN_Biopharma
www.kinn.co.th