Media

ออนไลน์สตรีมมิ่งเดือด ‘วิว’ เร่งสร้าง ‘อีโคซิสเต็ม’ ยึดผู้นำ’ซี่รีส์เอเชีย’

เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแล้ว 3 ปี สำหรับ “วิว” (VIU) ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงรูปแบบ OTT ให้บริการคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะซีรี่ย์เกาหลีและคอนเทนต์โลคอลแต่ละประเทศที่เข้าไปทำตลาด ซึ่งจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ วิว วางแผนทำตลาดเชิงรุกและก้าวล้ำกว่าคู่แข่งทั้งรายเดิมในตลาด และรายใหม่ที่กำลังจะเข้ามา

นั่นคือ การต่อยอดจากการสร้าง ออริจินัล คอนเทนต์ ไปสู่การสร้างอีโคซิสเต็มของวิว เพื่อช่วยต่อยอดให้ทุกคนที่อยู่ในอีโคซิสเต็มของวิว สามารถขยายไปในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลหรือตลาดโลกได้

Viu Management 2

อัญชลี ชัยชนะวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร และ สรวิศศ์ จินตสุนทรอุไร ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท บริษัท พีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันเปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่เป็นตลาดดาวรุ่ง (Star Market) จากการทำตลาดของ วิว ใน 17 ประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ที่วิวมีครบทุกประเทศ ยกเว้น เวียดนาม ลาว และเมียนมา ที่ตลาดยังไม่เติบโตมากนัก

ที่ผ่านมา ต้องบอกว่า วิว ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศไทย ด้วยจำนวนดาวน์โหลดสูงถึง 2.5 ล้านดาวน์โหลด และคาดว่าในปีนี้จะสามารถเพิ่มยอดดาวน์โหลดได้ถึง 6.1 ล้านดาวน์โหลด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีคอนเทนต์ที่เป็นแมส หรือจับกลุ่มผู้บริโภคผู้ชมในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับ จีเอ็มเอ็ม, เวิร์กพอยต์, รวมถึงการผลิตคอนเทนต์ในประเทศอย่าง วิว ออริจินัฃ คอนเทนต์ เพื่อฉายทั้งในประเทศไทยและส่งออกไปเผยแพร่ในประเทศอื่นๆ ที่ วิว มีให้บริการอยู่

เมื่อถามถึงปัจจัยความสำเร็จของวิว ผู้บริหารทั้งสองท่านสรุปให้ฟังว่า 1. มาจากการที่มีโลคอลคอนเทนต์ ที่ตรงกับความต้องการของผู้ชม 2. มีแอปพลิเคชั่นที่สามารถรับชมซีรี่ย์เรื่องล่าสุดที่ออกฉายได้เร็วกว่าที่อื่น โดยเฉพาะซีรี่ย์เกาหลี ที่ วิว ถือว่ามีพันธมิตรซีรี่ย์เกาหลีมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งสามารถรับชมได้เร็วกว่าที่อื่น และ 3.มีให้เลือกทั้งแบบรับชมฟรีและเป็นสมาชิกที่คิดค่าบริการ ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ตามความชอบและกำลังซื้อ

รูปธุรกิจ VIU 11

ที่สำคัญคือ การวางตำแหน่งทางการตลาดที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น คือการเป็นศูนย์รวมซีรี่ย์เกาหลีที่มากที่สุด อันเป็นผลมาจากการวิจัยผู้บริโภคในเอเชียรวมถึงไทย และพบว่า นิยมซีรี่ย์เกาหลีมากที่สุด นอกจากนี้ ยังเสริมซีรี่ย์จากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น อินเดีย รวมถึงไทย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ชัดเจนของ วิว และทำให้เกิดการบอกต่อ

อัญชลี ขยายความถึงคอนเซปต์ วิว ออริจินัลว่า จะเป็นคอนเทนต์ที่แต่ละประเทศผลิตขึ้น และต้องเป็นคอนเทนต์ที่สามารถนำไปฉายในประเทศอื่นๆ ได้ โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ผลิตซีรี่ย์ เรื่อง โฮะแฟมิลี่ ขณะที่ประเทศอื่นผลิตคอนเทนต์ตามความเหมาะสมกับแต่ละประเทศ เช่น วิว สิงคโปร์ ผลิตวาไรตี้ท่องเที่ยว ที่นำดาราดังจากหลายประเทศไปเที่ยวเป็นต้น สิ่งสำคัญคือ คอนเทนต์ต้องสามารถกระจายไปในตลาดอินเตอร์เนชั่นแนลได้ ซึ่งในปีนี้ ประเทศไทยจะผลิต ออริจินัลคอนเทนต์เพิ่มอีก 1 เรื่อง

“การแข่งขันในธุรกิจออนไลน์สตรีมมิ่งในไทยเพิ่มสูงขึ้น ปีนี้อาจมีคู่แข่งใหม่เข้ามาเพิ่ม เช่น จากจีน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การแย่งเวลาของยูสเซอร์หรือผู้ใช้งานที่มีอยู่ 24 ชั่วโมง ซึ่งยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบบ้างแต่เราเซ็กเมนต์ชัดเจน และลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีความเหนียวแน่นกับเราสูง สิ่งสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ชม”

ดังนั้น กลยุทธ์ที่ วิว จะเดินไปนับจากนี้ คือ การรุกเข้าถึงในทุกตลาด และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ และจากการให้บริการที่ วิว ให้บริการครอบคลุมอยู่ใน 17 ประเทศ การทำให้ผู้ชมประทับใจในแบรนด์นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นการให้บริการแบบพรีเมียม ความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนระบบนิเวศน์ธุรกิจ การทำงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้าภายในประเทศเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่โดนใจแก่ผู้ชมจึงเป็นสิ่งที่ตั้งเป้าเอาไว้เพื่อที่จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไป

รูปธุรกิจ VIU 1

สำหรับก้าวต่อไปของ วิว คือการสร้างครีเอทีฟ อีโคซิสเต็ม โดยดึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในระบบ ไม่ว่าจะเป็น ดารา ผู้กำกับ นักเขียนบท ฯลฯ โดย วิว จะเป็นช่องทางต่อยอดให้กลุ่มนี้สามารถนำคอนเทนต์มีโอกาสไปต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายเปิดตัวคอนเทนต์ใหม่กว่า 80 เรื่อง

ปัจจุบัน วิว มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 20.3 ล้านคน เป็น 36.3 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา แสดงถึงการเพิ่มขึ้นเกือบ 80% ที่น่าสนใจอยู่ที่ระยะเวลาในการรับชมวิดีโอที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า คือเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านนาที ในขณะที่ยอดรับชมวิดีโอได้เพิ่มขึ้นถึง 240% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของความนิยมที่ 2.9

นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2019 วิว ได้ทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของแอปพลิเคชันวิดีโอสตรีมมิงยอดนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจัดอันดับดังกล่าว วัดจากจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน เวลาในการรับชมรวม และรายได้ที่เกิดจากการซื้อสินค้าภายในแอปพลิเคชันในประเทศที่มีการเติบโตของตลาดสูง ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย

Avatar photo