Economics

เอฟทีเอดันส่งออก ‘มังคุด’ 6 เดือนยอดพุ่ง ‘จีน’ เพิ่ม 408% ‘อาเซียน’ 46%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยเอฟทีเอช่วยดันยอดส่งออก “มังคุด” พุ่ง ทำไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกอันดับต้นของโลก ระบุช่วง 6 เดือนส่งออกได้แล้ว 325 ล้านดอลลาร์เพิ่ม 220%  โดยเฉพาะ จีนมีการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 408% ส่วนอาเซียนเพิ่ม 46% แนะรักษาคุณภาพ และอย่าลืมใช้สิทธิ์ภายใต้เอฟทีเอก่อนส่งออก

เอฟทีเอ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้าจำนวน 13 ฉบับ พบว่ามีอยู่ 14 ประเทศ รวมถึง จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยแล้ว ส่งผลให้ไทยมีการส่งออกมังคุดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ส่งออกสินค้ามังคุดอันดับต้นของโลก

ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้  ไทยส่งออกมังคุดคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 325 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 220% โดยตลาดส่งออกหลัก คือ จีนและอาเซียน มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 97%  โดยส่งออกไปจีน มูลค่า 229.4 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 408% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 71% และอาเซียนมูลค่า 84.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 46% มีส่วนแบ่งตลาด 26% ขณะที่ยอดรวมส่งออกทั้งปี 2561 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 226.4 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 3.32%

นางอรมน กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกมังคุดไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ข้อตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่า มูลค่าการส่งออกมังคุดเพิ่มสูงขึ้นถึง 22,540%

หากแยกรายตลาด พบว่า จีน เพิ่มขึ้น 34,667% เมื่อเทียบกับปี 2545 ก่อนที่จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ส่วนอาเซียนเพิ่ม 11,420% เมื่อเทียบกับปี 2535 ก่อนที่สมาชิกอาเซียนจะลดภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน

เกาหลีใต้ เพิ่ม 2,400% เมื่อเทียบกับปี 2552 ก่อนการลดภาษีภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในปี 2561 ที่มังคุดเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ

อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันให้มังคุดและผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภค เกษตรกรควรรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาด ซึ่งนิยมผลไม้ปลอดสารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สร้างตราสินค้าหรือแบรนด์ของตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่น และปรับตัวเข้าสู่การค้ายุคใหม่ โดยสร้างองค์ความรู้ด้านต่างๆ เช่น การตลาดในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จึงจะครองตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าผลไม้ไทยได้

Avatar photo