General

‘สผ.’ ลงนามเอ็มโอซีหนุนจัดการโลกร้อน สร้าง ‘ท่องเที่ยวยั่งยืน’

ในปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างรายได้มหาศาลจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ

นักท่องเที่ยวไทยก็มีความสำคัญก่อให้เกิดการกระจายรายได้ออกสู่ต่างจังหวัด เกิดกระแสเงินจำนวนมากไหลเวียนผ่านห่วงโซ่ทางธุรกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้และการจ้างงานของคนจำนวนมาก

12 beach

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันถึงประมาณ 50 ล้านตันต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยต่อคนสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก เมื่อปี 2556  (คำนวนจาก Carbon Footprint ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก) หรือคิดเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.9 ตันต่อคนต่อปี

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยเองยังมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ส่งผลให้การกัดเซาะของชายฝั่ง ภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงปริมาณฝน และรูปแบบการกระจายของฝนรายปีตลอดจนอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความงดงามและบรรยากาศของแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ดังนั้นหากเกิดผลกระทบของภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่มีการดำเนินงานรับมือใดๆ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

IMG 0113

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน การพัฒนาเครื่องมือและกลไกในการสร้างแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ รวมถึง เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ผ่านการดำเนินงานของศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CITC) โดยมีภารกิจหลักในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการก๊าซเรือนกระจกของไทย และประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

CITC จึงได้พัฒนาหลักสูตรการอบรม “เศรษฐศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคการท่องเที่ยว”ขึ้น โดยเน้นการนำเอาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยวให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เนื้อหาในหลักสูตรนี้ประกอบไปด้วยมาตรการเศรษฐศาสตร์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การวิเคราะห์ความคุ้มค่าการลงทุนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การวิเคราะห์แบบหลายเกณฑ์เพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายการท่องเที่ยว เพื่อให้การขยายผลองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยวดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

DSC09424

อบก. จึงร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation: MoC) ขยายผลองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และดำเนินกิจกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้กับบุคลากรในภาครัฐและเอกชนของภาคการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่  6 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ (รางน้ำ) โดยมีนายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ

พร้อมกันนี้ CITC ยังได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เศรษฐศาสตร์เบื้องต้นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการท่องเที่ยว โดยมี รศ.ดร. รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการร่วมเป็นวิทยากรเสวนา และมีบุคคลากรจากทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน มากกว่า 70 คน ร่วมงาน

Avatar photo