Economics

สินค้าเกษตรราคาต่ำฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ พ.ค.ลดลง

หอการค้าไทย

หอการค้าไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดตัว ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการสะท้อนถึงสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ  นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งการดำเนินการของหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด เพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ปัญหาต่างๆ  เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจของประเทศไทย

โดยสำรวจประธานหอการค้าจังหวัด รองประธานหอการค้าจังหวัด  เลขาหอการค้าจังหวัด และกรรมการหอการค้าจังหวัดในทุกจังหวัดของประเทศไทยกว่า 300 ตัวอย่าง

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC) มีค่าดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 100 จุด

  • ค่าดัชนีมีค่าน้อยกว่า 50 จุด สถานการณ์มีแนวโน้มจะแย่ลงหรืออยู่ในระดับไม่ดี
  • ค่าดัชนีมีค่ามากกว่า 50 จุด สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นหรืออยู่ในระดับดี
  • ค่าดัชนีมีค่าเท่ากับ 50 จุด สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงหรืออยู่ในระดับปานกลาง

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ ต้นทุนราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น, การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน, ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ,ประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย, การปรับขึ้นราคาจากค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลต่อค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

ปัจจัยด้านบวก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง บัตรสวัสดิการคนจน, ภัยพิบัติธรรมชาติมีน้อย, สัญญาณทางการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอฯ พ.ค.ชะลอตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยว่าสถานการณ์ของดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 47.7 จากเดือนเมษายน ที่อยู่ที่ 49.4 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางด้านภาคการเกษตรที่ยังมีระดับราคาต่ำ

นอกจากนี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังคง “ชะลอตัว” ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจทางด้านอุปสงค์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

ทางด้านของภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นมากกว่าแย่ลง ได้แก่ การท่องเที่ยวและภาคบริการ

ทางด้านภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้า ยังคงมีสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนที่ผ่านมา

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ดัชนีเชื่อมั่นต่างจังหวัด “ลดลง”

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบในแต่ละภูมิภาค พบว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ มาจากการบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้น จากความเชื่อมั่นของนักธุรกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งสถานการณ์การส่งออกที่ดีขึ้น

ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้  มีสถานการณ์ที่ปรับตัวลดลงและมีค่าดัชนีต่ำกว่า 50 จุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากระดับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้ระดับรายได้ลดลงรวมทั้งระดับรายได้ลดลง รวมทั้งระดับราคาต้นทุนการผลิตหรือการให้บริการสูงขึ้น

ส่วนภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีการปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่ค่าดัชนียังคงสูงกว่า 50 นั่นแสดงให้เห็นว่าภาคตะวันออกยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของพื้นที่ แต่การปรับตัวลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากำลังซื้อที่ลดลงเล็กน้อยและการลงทุนที่ชะลอตัวลง

แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบฯ กระตุ้นลงทุน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากปัญหาของภาคธุรกิจในภูมิภาค การชะลอตัวของการบริโภค ระดับรายได้กระจุกตัวบางพื้นที่ ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ข้อเสนอแนะของหอการค้าไทยต่อภาครัฐ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจ  ด้านการแก้ไขปัญหา การชะลอตัวของการบริโภค รัฐบาลความเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนงานที่วางไว้ เพื่อให้เกิดการลงทุนและการใช้จ่ายในพื้นที่รวมถึงพิจารณาต้นเหตุที่เป็นอุปสรรค เพื่อปรับปรุงการเบิกจ่ายให้ดีขึ้น

ข้อเสนอแก้ปัญหา ระดับรายได้ที่กระจุกตัวบางพื้นที่  สร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างกิจกรรมในเมืองรอง ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการจัดประสัมมนา โดยมีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี

กลินท์ สารสิน
กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight