Business

เปิดใจ ‘ถาวร เสนเนียม’ กับภารกิจ ‘การบินไทย’

“การบินไทย” ยังคงอยู่ในการแข่งขันที่รุนแรงและประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วง 5 ปี ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีความพยายามปฏิรูปองค์การแห่งนี้ใหม่ ด้วยการพาการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟู แต่จนถึงวันนี้สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นและปัจจัยลบจากภายนอกก็ยังคงรุมเร้าองค์กรแห่งนี้ไม่ขาดสาย

ล่าสุดกระทรวงคมนาคม ภายใต้รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ 2/1” ได้มอบหมายให้ “ถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับภารกิจในการกำกับดูแลสายการบินแห่งชาติในห้วงเวลาที่สำคัญ เนื่องจากการบินไทยจะต้องเสนอเรื่อง “การจัดหาฝูงบินใหม่” จำนวน 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วๆ นี้

021fc940 07c9 42f9 832f 3ebcb56979a6
ถาวร เสนเนียม

“ถาวร เสนเนียม” เปิดนโยบายเรื่องการกำกับดูแลการบินไทยว่า แผนการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ ของการบินไทย อยู่ในกรอบการจัดหาเครื่องบิน 75 ลำ ที่ ครม. เคยเห็นชอบไว้ตั้งแต่ปี 2554 โดยมติ ครม. ระบุว่า การจัดหาเครื่องบินจะต้องคำนึงถึงปัจจัย 2 ด้าน คือด้านฐานะการเงินและการตลาด

ด้านฐานะการเงิน การบินไทยยังคงขาดทุนอยู่ แต่มีความจำเป็นในด้านการตลาด เพราะการบินไทยต้องแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ  ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยสายการบินนระดับพรีเมียม (Premium airlines) มักมีโอกาสเลือกนั่งเครื่องบินใหม่ๆ ถ้าหากการบินไทยสู้คู่แข่งไม่ได้ ก็จะทำให้ผลประกอบการขาดทุนหนักขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นในการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ

B777 200ER การบินไทย

แนวทางหาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาจัดหาเครื่องบินมีอยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรกคือ การกู้เงิน ซึ่งค่อนข้างยาก เพราะบริษัทมีผลประกอบการขาดทุน แต่ล่าสุด “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) การบินไทย ก็ได้ใช้ โครงการมนตรา ซึ่งเป็นวิธีการทางการเงิน นำกำไรสะสมมาหักตัวเลขขาดทุนไปแล้ว ทำให้การบินไทยเหมือนเริ่มต้นที่ 0 ใหม่

แนวทางที่ 2 เพิ่มทุนตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น โดยมีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51% แต่ตนก็ได้ให้ข้อสังเกตว่า อย่าให้เกิดผล กระทบต่อฐานะการเงินของประเทศ ให้ไปใช้วิธีการทางธุรกิจและต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ ไม่ควรอย่างยิ่งให้มากระทบฐานะการเงินประเทศ เพราะการบินไทยเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ยอดขายปีหนึ่งเกือบๆ 2 แสนล้านบาท ก็ควรใช้ความสามารถความรู้เพิ่มทุนตามความสามารถของบริษัทเองก็ได้

โดยขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด เรื่องการหาเครื่องบิน 38 ลำ ให้ชัดเจนอีกครั้ง จากนั้นการบินไทยจะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด), กระทรวงคมนาคม, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ครม. พิจารณาตามลำดับ คาดว่าจะเสนอเรื่องให้ ครม. เห็นชอบได้เร็วที่สุดในเดือนสิงหาคม 2562 โดยรายละเอียดส่วนใหญ่คงไม่หนีของเดิม แต่การบินไทยต้องวางแผนให้จบว่า เครื่องบินที่จัดหามาจะซื้อมาบินในเส้นทางไหน

ซ่อม A340 บินยุโรป

นอกจากนี้ การบินไทยมีเครื่องบินที่ซื้อมาในยุค นายทักษิณ ชินวัตร ประกอบด้วยแอร์บัส A304-500 และ A340-600 รวม 6 ลำ ซึ่งจอดอยู่ ไม่ได้บิน เพราะบินระยะไกลไปสหรัฐอเมริกาไม่คุ้มทุน ต้องเติมน้ำมันวงเงิน 4 ล้านบาทเพื่อบิน 15 ชั่วโมง ทำให้บรรทุกผู้โดยสารและสินค้าขาไปได้ไม่มากนัก อีกทั้งแม้รวดเร็ว แต่ต้องใช้เวลาบินนานติดถึง 15 ชั่วโมง จึงไม่ได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร

ล่าสุดการบินไทยเพิ่งขายเครื่องบินล็อตดังกล่าวให้กองทัพอากาศไปได้เพียง 1 ลำ เหลืออีก 5 ลำ ที่ปรึกษาของ “ถาวร” จึงให้ข้อสังเกตว่า น่าจะเอาเครื่องบินที่จอดอยู่มาปรับปรุง แล้วบินไปโซนยุโรปแทนได้  ถ้าบินระยะใกล้อาจจะเติมน้ำมันไม่เต็ม แล้วบินไปยุโรปใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง

001Check in Royal Silk Classรื้อระบบ Agency ขายตั๋ว

“ถาวร”  ตั้งข้อสังเกตว่า การขายตั๋วเครื่องบินของการบินไทยใช้ระบบตัวแทน (Agency) ถึง 75% และ ออนไลน์ 25% ซึ่งก็จะเห็นว่ามีองค์กรที่เก่าคร่ำครึ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเจ๊งไปเยอะ ตนจึงให้การบ้านการบินไทย ไปเปลี่ยนวิธีการจองตั๋วใหม่ ให้นำระบบออนไลน์มาใช้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุน หารายได้เพิ่มขึ้น

มีองค์กรที่เก่าคร่ำครึ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เจ๊งไปเยอะ

ด้าน Agency ที่มีกว่า 200 ราย ก็ไม่ใช่ตัดออกโดยพละการ แต่ต้องมีการตั้งเกณฑ์การวัดผล (KPI) เพราะที่ผ่านมา ถ้า Agency ขายไม่หมด ก็ส่งคืนการบินไทยได้ ไม่มีมาตรการลงโทษอะไรเลย ทั้งที่ส่วนราชการอื่นจะมีการขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ถ้าเอกชนทำไม่ได้ตามเป้าหมาย

ได้ให้นโยบายการบินไทยไปจัดทำ KPI ของ Agency ถ้าจำหน่ายที่นั่งไม่หมดในเวลาที่กำหนด ก็ต้องมีมาตรการเบาไปหาหนัก เช่น Blacklist ลดจำนวนการจัดสรรที่นั่ง หรือตัดสิทธิ์ไปเลย แล้วเอาที่นั่งที่เหลือไปจำหน่ายทางออนไลน์ ถ้าหากมี Agency รายใหม่เข้ามา ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่การบินไทยไม่เสียเปรียบ  เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้

นอกจากนี้ ขอให้การบินไทยพิจารณามาตรการหารายได้นอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low season) ช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ปกติจะขาดทุน ให้พลิกมีกำไร เช่น หารายได้จากการขนส่งสินค้า (Cargo) และครัวการบินเพิ่มเติม หาเอกลักษณ์ไทยในมิติอื่นๆ เพื่อดึงดูดผู้โดยสาร เพิ่มเส้นทางบิน ประหยัดต้นทุน  เป็นต้น

ไทยสมายล์

หาจุดยืน “ไทยสมายล์”

ด้าน “สายการบินไทยสมายล์” ที่เป็นบริษัทลูกของการบินไทย ปัจจุบันมีสถานะขาดทุน ก็ต้องถามว่าขาดทุนเพราะอะไร แต่ส่วนตัวคิดว่าเกิดจากไทยสมายล์มีจุดยืนไม่ชัดเจน

ปัจจุบันไทยสมายล์มีสถานะเป็นสายการบิน Premium Low Cost จึงให้การบินไทยไปพิจารณาว่าควรทำเป็น Low Cost เลยดีกว่าไหม เพราะเป็นสายการบิน Premium  ก็ไม่ใช่ Low Cost ก็ไม่เชิง พอผู้โดยสารจะซื้อตั๋ว ราคาก็แพงกว่า Low Cost ทั้งที่นั่งไทยสมายล์ก็ใกล้เคียงกับ Low Cost และการเดินทางในระยะเวลา 1 ชั่วโมงนิดๆ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการบริการ แต่ต้องการความรวดเร็วและค่าใช้จ่ายถูก บางสายการบินจึงขายแค่ 700-800 บาทเท่านั้น แต่ถ้าหากจะเป็น Premium ก็ต้องมีกำไรและมองตลาดให้ออก

“ไทยสมายล์จะต้องคิดถึงจุดยืนของตัวเองให้ชัดเจนว่า สายการบินไหนเป็นคู่แข่งและเราควรจะมีจุดยืนอย่างไร แต่ความเห็นผมเห็นว่าควรจะให้เป็น Low Cost ให้ชัดเจนไปเลย เราให้นโยบายไป การบริหารอยู่ที่เขา เราให้ข้อคิดเขาไป” ถาวร กล่าวปิดท้าย

Avatar photo