Economics

‘ซีอีเอ’ ผนึกกำลัง ‘ทีเส็บ-เอ็นไอเอ’ พัฒนาอุตสาหกรรม ‘ไมซ์ไทย’ ก้าวสู่เวทีสากล

3 หน่วยงานหลัก เดินหน้าความร่วมมือ พัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก มุ่งบ่มเพาะผู้ประกอบการ นักสร้างสรรค์ และวิสาหกิจเริ่มต้นของไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมนานาประเทศ และพร้อมก้าวสู่เวทีสากล รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนและสร้างระบบนิเวศในสาขาวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมนันทนาการของไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลก

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ซีอีเอ (CEA) เปิดเผยว่า ซีอีเอ เล็งเห็นถึงโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ให้มีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมนานาชาติ จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ดำเนินโครงการ “การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์” (MICE) ของประเทศไทย

โครงการดังกล่าว อยู่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้ง 12 สาขา เศรษฐกิจบริการและแบ่งปัน โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ การสร้างและใช้นวัตกรรม เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการ นักสร้างสรรค์ และวิสาหกิจเริ่มต้นของไทยแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อันนำไปสู่การมีศักยภาพที่ทัดเทียมนานาประเทศและพร้อมก้าวสู่เวทีสากล ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนและสร้างระบบนิเวศในสาขาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem) ด้านดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมนันทนาการ (MAR Tech) ของไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลก

ไมซ์1

ทั้งนี้ จะดำเนินงานใน 3 กิจกรรมหลัก คือ 1. การส่งเสริมและพัฒนานักสร้างสรรค์ ในการพัฒนาผลงานหรือนวัตกรรม (Grooming) 2. การสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายในการพัฒนาผลงานด้วยองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม (Enhancing with Innovation) และ 3. การจัดเทศกาล กิจกรรม เพื่อจัดแสดงผลงานและสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนหรือต่อยอดการพัฒนาผลงาน โดยการร่วมมือกับพื้นที่ ชุมชน และผู้จัดงานระดับสากล อาทิ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ และ อีสานครีเอทีฟเฟสติวัล เป็นต้น

ด้านนางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่าย ไมซ์ อินเทลลิเจนซ์ และนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ (TCEB) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยเติมเต็มศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจไมซ์ และวิสาหกิจเริ่มต้นในด้านดนตรี ศิลปะ และธุรกิจบันเทิงแล้ว ยังนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกแก่ประเทศไทย ในแง่ของการกระตุ้นการลงทุนจากนักธุรกิจชาวต่างชาติ และการขยายเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวต่างชาติในอนาคต อันก่อให้เกิดการหมุนเวียนของมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์
จารุวรรณ สุวรรณศาสน์

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมไมซ์ของไทย ได้รับการจัดอันดับจากสมาคมการประชุมนานาชาติระดับโลกปี 2561 ให้อยู่ในอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชีย ด้านการประชุมนานาชาติ รองจากประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี และเป็นอันดับที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึง “กรุงเทพ” ได้รับการจัดอันดับที่ 2 ของโลกด้านการประชุมนานาชาติระดับเมือง

ขณะที่ ทีเส็บ ยังคงเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่เป็น “ผู้เชื่อมโยงทุกความสำเร็จ” ในทุกๆ ด้านของธุรกิจด้าน เพื่อรองรับนโยบายเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 อันมีเป้าหมายหลักใน 10 อุตสาหกรรม อันจะก่อให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ต่อนานาชาติและประเทศไทยในอนาคต

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ (NIA) กล่าวเสริมว่า เอ็นไอเอ ทำหน้าที่เสมือน “สะพานเชื่อม” ระบบนวัตกรรมโลกอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้วิสาหกิจไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงและสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน อันสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้ ที่มุ่งเสริมแกร่งวิสาหกิจเริ่มต้นด้าน MAR Tech รวมถึงนักสร้างสรรค์ไทย นับตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำไปจนถึงกลางน้ำให้มีคุณภาพระดับสากล และสามารถผลิตผลงานเข้าสู่ภาคธุรกิจได้ โดยการสร้างคุณค่าด้วยนวัตกรรม

ไมซ์

“เรามุ่งเชื่อมโยงองค์กรและนักลงทุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินกิจการสตาร์ทอัพที่เข้มแข็ง รองรับการเติบโตของสตาร์ทอัพ และนักลงทุนจากทั่วโลกในอนาคต โดยเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ จะได้เห็นทั้งผลงานสร้างสรรค์ นวัตกรรม สตาร์ทอัพ และเทคโนโลยีด้านไมซ์โดยฝีมือคนไทยแพร่กระจายและนำไปใช้ในแวดวงสากลมากขึ้น” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

Avatar photo