Economics

กรมเชื้อเพลิงฯ เดินหน้าภารกิจปรับภาพลักษณ์ ‘ถ่านหิน’

กรมเชื้อเพลิงฯ เดินหน้าภารกิจสร้างภาพพจน์ที่ดีให้ “ถ่านหิน” รองรับแผนการกระจายเชื้อเพลิง ออกคู่มือแนวปฏิบัติที่ดีใช้ถ่านหิน เผยแพร่-ให้รางวัลจูงใจ ส่งเสริมผู้ประกอบการทำดี ด้านชาติอาเซียนจับมือแลกเปลี่ยนแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ถ่านหิน และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

S 5333095วันนี้ (1 ส.ค.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จัดประชุมนานาชาติเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (International Conference & Workshop on Clean Coal Technology 2019) โดยมีผู้แทนจากอาเซียนเข้าร่วมกว่า 100 คน

นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ถ่านหินยังเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญของโลก รวมถึงอาเซียน เนื่องจากกำลังผลิตที่เพียงพอกับความต้องการ ต้นทุนที่ยอมรับได้ และการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้ถ่านหินไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าและในโรงงานอุตสาหกรรม

ปัจจุบันการใช้ถ่านหินในโลก และอาเซียน จึงยังคงเติบโตมาตลอด ตัวเลขในปี 2559 การใช้ถ่านหินอยู่ที่ 3,706 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ปี 2560 ขึ้นมาเป็น 3,731.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.69% เป็นการใช้ในอาเซียน 137.2 ล้านตันคิดเป็นสัดส่วน 3.68% ของการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินทั่วโลก

ส่วนของไทยการใช้ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ละปีมีการนำเข้าถ่านหินมากกว่า 20 ล้านตัน ปี 2562 ประมาณ 24 ล้านตันเพิ่มจากปีก่อนหน้าที่นำเข้า 22 ล้านตัน

IMG 20190801 092030เมื่อยังมีการใช้อยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในอาเซียน จึงมียุทธศาสตร์ ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint 2025 และแผนปฏิบัติการ ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation (APAEC) Phase I (ค.ศ.2016-2020) เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technology) และจัดเวทีประชุมนานาชาติให้สมาชิกในกลุ่มอาเซียนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ มุมมอง ความรู้ และแนวทางการแก้ปัญหา ในการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงถ่านหิน

โดยในปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทย จะมีการออกไปเรียนรู้ผลงานของผู้ประกอบการที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ได้รับการยอมรับจากภาคประชาชน เป็นโครงการระบบการจัดเก็บถ่านหินแบบปิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (โครงการวัดบันได) ของบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จํากัด (SCG International Corporation Co., Ltd.,) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำหรับกรมเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงาน ที่มีหน้าที่บริหารจัดการแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อสร้างและรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซึ่งถ่านหินนับเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญประเภทหนึ่ง จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ภายใต้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดมลภาวะ

ที่ผ่านมาเรามุ่งส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้ถ่านหินให้ดูแลสิ่งแวดล้อม มีการออกคู่มือแนวปฏิบัติที่ดี (Code of Practice) ในการขนส่งถ่านหิน และสนับสนุนกระบวนการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมอบรางวัลเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการที่ทำดี เพื่อกระตุ้นสถานประกอบการอื่นๆให้ทำตาม มีการส่งไปประกวด ASEAN Coal Awards ในระดับอาเซียนทุกๆ 2 ปีด้วย

“เราพยายามสื่อสารกับผู้ประกอบการว่า การลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดมลภาวะจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง อาจต้องลงทุน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็ทำให้โรงงานเปิดดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นที่ยอมรับ ย่อมดีกว่าใช้ของราคาถูก แล้วเดินเครื่องไม่ได้ เพราะมีประชาชนร้องเรียน สุดท้ายโรงงานก็อาจต้องถูกปิด ”

ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องเปิดใจ ไม่ติดกับภาพเดิมๆ เพราะตอนนี้เทคโนโลยีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มีการพัฒนาไปอย่างมาก จนไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการนำเข้าถ่านหินของไทยก็เป็นถ่านหินคุณภาพดีประเภทซับบีทูมินัส ภาพพจน์ใหม่ของถ่านหินต้องเข้าไปให้ถึงประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงฯที่ต้องทำหลังจากนี้

 

IMG 20190801 121212นางเปรมฤทัย กล่าวว่าภารกิจของกรมเชื้อเพลิงในการทำความเข้าใจต่อสาธารณะเรื่องถ่านหินนั้น ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ด้วยที่มุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิง และถ่านหินก็เป็นทางสำคัญทางหนึ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า เศรษฐกิจของประเทศก็เติบโตขึ้นทุกวัน ความต้องการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงยังคงมีอยู่ ส่วนการนำมาผลิตไฟฟ้า บอกไม่ได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ จะเกิดได้หรือไม่ เพราะต้องผ่านการศึกษาของคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ให้สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำการศึกษา

Avatar photo