General

โพล 24% เชื่อ ‘พ.ร.บ.ไซเบอร์’ ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

“นิด้าโพล” เปิดผลสำรวจ “พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ชี้ปชช. 82.89% เคยได้ยิน ขณะที่ 24.09% เชื่อไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ

พรบไซเบอร์1

กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” โดยเริ่มทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7 – 12 มิถุนายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,507 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับรู้หรือเคยได้ยินเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 82.89% ระบุว่า เคยได้ยิน ขณะที่ 17.11% ระบุว่า ไม่เคยได้ยิน

ในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า เคยได้ยินเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พบว่า 55.58% ระบุว่า พอทราบเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หลักของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 26.71% ระบุว่า ทราบดี และ 17.71% ระบุว่า ไม่ทราบเลย

และสำหรับช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของผู้ที่ ระบุว่า ทราบดีและพอทราบเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ 73.27% ระบุว่า รับรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รองลงมา 58.65% ระบุว่า รับรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์ 10.82% ระบุว่า รับรู้ผ่านสื่อเว็บไซต์ 7.37% ระบุว่า รับรู้ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ 5.26% ระบุว่า รับรู้ผ่านสื่อบุคคล และ 2.63% ระบุว่า รับรู้ผ่านสื่อวิทยุ

เมื่อถามประชาชนถึงการรับรู้สาระสำคัญเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

  1. ประเด็น พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยดูแลและปกป้องระบบคอมพิวเตอร์ของภาครัฐและเอกชน ให้มีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 94.80% ระบุว่า ทราบ และ 5.20% ระบุว่า ไม่ทราบ
  2. ประเด็น พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเฝ้าระวัง สอดส่องติดตามข้อมูลเนื้อหาในโลกโซเชียลของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 72.87% ระบุว่า ทราบ และ 27.13% ระบุว่า ไม่ทราบ
  3. ประเด็น สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มีหน้าที่ดูแล และเฝ้าระวัง การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับ สาธารณูปโภค การบริการทางการเงิน และความมั่นคงของประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 74.91% ระบุว่า ทราบ และ 25.09% ระบุว่า ไม่ทราบ
  4. ประเด็น ในกรณีเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับไม่ร้ายแรง สามารถอุทธรณ์ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ได้ พบว่า ประชาชน 51.75% ระบุว่า ไม่ทราบ และ 48.25% ระบุว่า ทราบ
  5. ประเด็น ในกรณีเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับร้ายแรง เจ้าหน้าที่ต้องมีหมายศาลในการ ตรวจค้น ยึดอุปกรณ์ และการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ พบว่า ประชาชน 51.05% ระบุว่า ทราบ และ 48.95% ระบุว่า ไม่ทราบ
  6. ประเด็น กรณีเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับวิกฤติ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องมีหมายศาลในการตรวจค้น ยึดอุปกรณ์ และการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ แต่หลังจากดำเนินการแล้วต้องแจ้งรายละเอียดต่อศาลโดยเร็ว พบว่า ประชาชน 51.87% ระบุว่า ไม่ทราบ และ 48.13% ระบุว่า ทราบ

ด้านความคิดเห็นที่มีต่อ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่าจะช่วยสร้างความมั่นคงปลอดภัยและแก้ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 53.80% ระบุว่า ช่วยได้ค่อนข้างมาก รองลงมา 23.10% ระบุว่า ช่วยได้มาก 20.47% ระบุว่า ช่วยได้ค่อนข้างน้อย และ 2.63% ระบุว่า ช่วยไม่ได้เลย

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในประเด็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 24.09% ระบุว่า ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีไว้เพื่อป้องกัน และรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และเศรษฐกิจ รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่เกี่ยวกับการสอดส่องดูข้อมูลส่วนตัวของประชาชน อีกทั้งมีกฎหมายควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ รวมถึงเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช้อำนาจในทางมิชอบ ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

รองลงมา 21.00% ระบุว่า ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะ มองว่า พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้สิทธิและอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเกินไป ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลประชาชนได้ง่าย เลยกังวลว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงไม่มีหน่วยงานอิสระที่ถ่วงดุลอำนาจ และตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเลย เลยกลัวว่ารัฐบาลจะใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ และ 54.91% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 62.22% ระบุว่า ควรสร้างความรู้/จิตสำนึกให้กับประชาชนเกี่ยวกับโทษในการคุกคามความมั่นคงทางไซเบอร์ รองลงมา 61.99% ระบุว่า ควรควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐนำไปใช้ในทางมิชอบ 56.84% ระบุว่า เจ้าหน้าที่ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและลงโทษขั้นรุนแรงกับผู้ที่กระทำผิด 42.63% ระบุว่า ควรมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นองค์กรอิสระเข้ามาถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบการทำงาน 0.53% ระบุว่า ควรมีการรายงานผลความสำเร็จของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเล็งเห็นถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือต่อหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต่อไป และ 10.41% ไม่ระบุ/ไม่สนใจ

001120

Avatar photo