Lifestyle

ตะลึง! สุ่มตรวจ ‘ชานมไข่มุก’ น้ำตาลเกินมาตรฐาน-สารกันบูด 100%

ตะลึง! สุ่มตรวจ “ชานมไข่มุก” 25 ตัวอย่าง 92% น้ำตาลเกินมาตรฐาน มากสุด 18.5 ช้อนชา พบตัวอย่างเม็ดไข่มุกมีสารกันบูด 100%

FB IMG 1562898800524
ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกในเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 25 ยี่ห้อ ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ที่มีราคาตั้งแต่แก้วละ 23 – 140 บาท ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมัน รวมถึงทดสอบหาโลหะหนักประเภทตะกั่ว และสารกันบูดในเม็ดไข่มุก

จากผลทดสอบ พบน้ำตาลเกินมาตรฐานกว่า 92% หรือ 23 ยี่ห้อ โดยปริมาณน้ำตาลต่อแก้วน้อยที่สุดเท่ากับ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วมากที่สุดมีปริมาณน้ำตาลกว่า 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 24 กรัม (6 ช้อนชา)

ขณะที่ผลการทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ในเม็ดไข่มุก พบในตัวอย่าง 100% โดยปริมาณสารกันบูดน้อยที่สุด มีปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 58.39 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อที่พบปริมาณสารกันบูดรวมมากที่สุด พบปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกรวมกัน เท่ากับ 551.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

news pic 110762 bubblemilktea
ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ผลทดสอบน้ำตาลและสารกันบูดในชานมไข่มุก 25 ตัวอย่างว่า การทดสอบดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด ยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภค และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการบริโภคได้มากขึ้น สังเกตุว่าทุกยี่ห้อมีสารกันบูด แต่ไม่มียี่ห้อไหนที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ ในชานมไข่มุกมีสารกันบูด จึงขอให้ผู้ประกอบการระบุในฉลากให้ถูกต้อง ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย

อย่างไรก็ตาม อยากฝากข้อเสนอไปถึงผู้ประกอบการให้ปรับลดขนาดปริมาณต่อแก้ว (Serving Size) ลงให้เหมาะสม เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณพลังงานและน้ำตาลต่อแก้วสูงจนเกินไป เพราะเมื่อผู้บริโภคซื้อชานมไข่มุก ก็อาจบริโภคจนหมดแก้วเพราะความเสียดาย ทำให้พลังงานและน้ำตาลที่ได้รับในหนึ่งมื้อนั้นมากจนเกินความจำเป็น และ อย. ควรเร่งผลักดันให้เกิดฉลากสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

FB IMG 1562898810291
ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
FB IMG 1562898806066
ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

Avatar photo