Technology

เที่ยวปลอดภัยไทยแลนด์​ เปิดตัว ‘ระบบติดตามนักท่องเที่ยว’​ จบปัญหาสูญหาย

เอ็กซ์เซ้นส์​ต่อยอดระบบติดตามยานพาหนะ​ สู่การเกาะติดนักท่องเที่ยว​ ด้วยระบบจัดการเพื่อรักษาความปลอดภัย​ นำร่องภูเก็ต​

30076

นางฐิติมา สุวรรณรัฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการพัฒนาและให้บริการระบบติดตามยานพาหนะ (Vehicle Tracking) มากว่า 15 ปี ล่าสุดบริษัทได้ร่วมมือกับ กสท. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย และบริษัทนำเที่ยวต่างๆ ภายใต้โครงการ ระบบการจัดการและรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว (Tourism Safety Support and Management System) เพื่อทดสอบการติดตามนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยภายใต้กฎระเบียบของภาครัฐ โดยบริษัทเป็นผู้พัฒนาระบบ และพร้อมเปิดตัวสู่ตลาดแล้ว

ทั้งนี้ ​เนื่องจากเหตุการณ์นักท่องเที่ยวสูญหายเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้หลายหน่วยงานตระหนักถึงมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะเป็นเส้นทางหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การท่องเที่ยวระดับสากล โดยระบบการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวจะทำการแจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ กรณีประสบเหตุอันไม่พึงประสงค์ เช่น นักท่องเที่ยวตกน้ำ อุปกรณ์ที่ติดตัว (Wristband) หรือเซนเซอร์ที่ติดไว้ในเสื้อชูชีพ จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Control and Command Center) เพื่อให้การช่วยเหลือในทันที

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่บริษัท บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ​ แคท กล่าวว่า แคทได้ร่วมสนับสนุนโครงข่ายการกระจายสัญญาณบนเทคโนโลยี ลอร่าแวน (Long-Range Wide Area Network) ในการทดสอบระบบการจัดการและรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เพื่อทดสอบการทำงานของเซ็นเซอร์ บนเรือ และเสื้อชูชีพของนักท่องเที่ยว ในกลุ่มจังหวัดพื้นที่ทะเลอันดามันได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา ระนอง ตรัง สตูล และภูเก็ต โดยโครงการนำร่องนี้ เริ่มทดสอบระบบดังกล่าวแล้วที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก ซึ่งแคทมีความพร้อมในการให้บริการสัญญาณลอร่าแวนครอบคลุมพื้นที่สำคัญในจังหวัดท่องเที่ยว และจะให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วทั้งประเทศเพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจ

30077

นายวัชระ ฉัตรวิริยะ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย กล่าวว่า สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association: TESA หรือทีซ่า) มีบทบาท และหน้าที่ ในการช่วยให้สมาชิกเติบโตเข้มแข็ง และแข่งขันได้  ทางทีซ่าจึงช่วยประสาน และผนึกกำลังกับภาคส่วนต่างๆ ที่ทางสมาคมฯ มีความร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นั้นทำได้ยาก และมีข้อจำกัด แต่หากใช้ช่องทางของสมาคม ในการไปช่วยประสาน และติดต่อให้ ก็จะช่วยลดข้อจำกัด และหาทางออกได้ เช่น การทดลอง ทดสอบ และอื่นๆ อีกทั้งช่วยให้สมาชิกได้พบปะ พูดคุย และสานต่อความร่วมมือ จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ การให้บริการ ตลอดจนโซลูชั่นต่างๆ ได้ตามเป้าหมาย และแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ ระบบจัดการเพื่อรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย มีจุดเด่นด้านซอฟต์แวร์ที่สามารถปรับเปลี่ยน และประยุกต์ใช้ได้กับการติดตามรูปแบบอื่นๆ เช่น ติดตามเรือนำเที่ยว ติดตามเรือขนส่งสินค้า ตลอดจนการติดตามยานพาหนะทางบก แตกต่างจากซอฟต์แวร์ของต่างประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขการใช้งานได้ นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นด้านความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากสามารถเรียกดูระบบในหลายส่วนผ่านหน้าจอเดียว หรือที่เรียกว่า Single monitor

การทดสอบระบบจัดการเพื่อความปลอดภัยนักท่องเที่ยวภายใต้โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย

ระบบระบุตำแหน่งนักท่องเที่ยว โดยมีสายรัดข้อมือหรือ Wristband และเสื้อชูชีพติดเซนเซอร์ เป็นอุปกรณ์ปลายทาง ทำหน้าที่ส่งสัญญาญไปยังศูนย์ควบคุมและสั่งการ เมื่อนักท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือ

ระบบติดตามเรือท่องเที่ยว (Automatic Identification System) แสดงพิกัดตำแหน่งของเรือและเรือบริเวณรอบข้าง แสดงความเร็วของเรือ และระบบเข็มทิศนำทาง เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ ประเมินความเสี่ยง และกิจกรรมการปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมของหน่วยงานภาครัฐ

ระบบติดตามรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว (GPS Vehicle Tracking System) ทำการแสดงภาพวิดีโอ และระบบติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์ แจ้งเตือนเมื่อเข้าเขตพื้นที่เสี่ยงอันตราย และแจ้งเตือนเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วเกินกำหนด สามารถแจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย ด้วยการแชร์จุดพิกัดภูมิศาสตร์ (GPS Location) ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล หน่วยกู้ภัย สามารถควบคุมและป้องกัน ปราบปรามปัญหาอาชญากรรม เพื่อรักษาความความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่นักท่องเที่ยว อันจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

30075

การทำงานของระบบจัดการเพื่อความปลอดภัยจะทำการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ ไปยังระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Control and Command Center) ทำให้รู้ตำแหน่งและการแจ้งเตือนเหตุการณ์ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที รู้ตำแหน่งของนักท่องเที่ยวแต่ละราย ป้องกันการสูญหายหรือพลัดหลงกับทัวร์ รวมทั้งมีระบบจอภาพแสดงผลในห้องศูนย์ปฏิบัติการอีกทั้งยังมีพยากรณ์อากาศ เพื่อตรวจตราการออกเรือท่องเที่ยวในแต่ละวัน

นอกจากนี้​ ยังสามารถนำข้อมูลนักท่องเที่ยวมาวิเคราะห์พฤติกรรมการท่องเที่ยว เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สมบูรณ์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวครั้งต่อไป

สำหรับการรุกเข้าสู่ตลาดระบบจัดการเพื่อความปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวครั้งนี้​ ยังถือเป็นการขยายธุรกิจเข้าไปยังอุตสาหกรรมใหม่ของบริษัท เอ็กซ์เซ้นส์โดยใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เดิมเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับการใช้งานที่ยืดหยุ่นตามโจทย์ความต้องการดังที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ระบบยังมีฟีเจอร์ฮ็อตสปอตให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่นักท่องเที่ยวภายในเรือแม้จะอยู่กลางทะเล

“ด้านการขยายตลาดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบริษัทเอ็กซ์เซ้นส์ มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้แก่ ผู้ประกอบการท่าเรือ บริษัทนำเที่ยว ผู้ประกอบการการขนส่งนักท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางทะเล ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยโซลูชันของบริษัทสามารถรองรับได้หลายสัญญาณ เช่น ลอร่า, วีเอชเอ็ม และเครือข่ายของผู้ให้บริการมือถือ”นางฐิติมา กล่าว

Avatar photo