Economics

เอกชนผนึกกำลัง ผลักดันใช้ขวด ‘PET รีไซเคิล’ ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่ม

เอกชนผนึกกำลัง สำรวจพฤติกรรมการใช้ขวดพลาสติกของคนไทย ผลักดันส่งเสริมการใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลอย่างปลอดภัยในอนาคต หวังเป็นแนวร่วมลดพลาสติกเกิดใหม่  

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ไทยผลิตขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน  จำนวนี้ไม่ถึงครึ่ง ที่ถูกจัดเก็บ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนขวดพลาสติกที่เหลือต้องถูกนำไปฝังกลบ บางส่วนเล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อม จนทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมลำดับต้นๆ ของโลกในปัจจุบัน

การอนุญาตให้สามารถนำขวดบรรจุเครื่องดื่ม ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล (Recycled PET : rPET) มาใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม จึงเป็นหนึ่งในหลายๆ มาตรการที่ทั่วโลกนำมาใช้ เพื่อลดการนำพลาสติกใหม่มาใช้ แต่สำหรับประเทศไทย กฎหมายยังไม่อนุญาตให้นำมาใช้ได้ จากข้อกังวลเรื่องการปนเปื้อน

rPET Research MOU Signing Photo

วันนี้ (1 กรกฎาคม 2562 ) สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย จึงจับมือกับกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส  จำกัด (มหาชน) ประกาศความร่วมมือ เร่งผลักดันให้มีการพิจารณาแก้กฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำ rPET มาใช้ได้ในประเทศ

พร้อมกับประสานงานศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพฤติกรรมการใช้ขวดเครื่องดื่มพลาสติกของผู้บริโภคชาวไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการนำขวดเครื่องดื่มไปใช้หลังการบริโภค ที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาแนวทาง ที่เหมาะสมในการกำกับดูแล เก็บรวบรวม การผลิต และใช้ขวด rPET ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ขวด rPET ได้

recycling business banner

นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายก และ ประธานกรรมการบริหาร ของ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า ในฐานะศูนย์กลางการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สมาคมฯ ตระหนักถึงบทบาทในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

โดยเฉพาะในส่วนของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม แม้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เครื่องดื่มต่างๆ ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสะอาด ปลอดภัย และได้คุณภาพมาตรฐาน แต่หากไม่ได้รับการจัดการหลังการบริโภคที่เหมาะสมแล้ว บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบในวงกว้างได้

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จำเป็นต้องใช้ขวดพลาสติกที่ผลิตใหม่ทั้งหมด เนื่องจากกฎหมายห้ามไม่ให้นำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่กับบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ซึ่งข้อห้ามนี้ครอบคลุมถึงพลาสติก ที่ผ่านการกระบวนการรีไซเคิลอย่าง rPET แล้ว ทำให้สมาชิกไม่สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ได้

อย่างไรก็ตามปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้ตื่นตัว ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการผลิตและใช้ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทยกันมากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปัจจุบัน ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้น จากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก ”  

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการ และแนวปฏิบัติในต่างประเทศเกี่ยวกับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นขวดเครื่องดื่มใหม่มาได้ระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะทำงานฯ มีความเห็นว่า การกำกับดูแลในส่วนนี้จำเป็นจะต้องมีการศึกษาสภาพปัญหา และพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยอย่างแท้จริง จึงได้เห็นชอบให้ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย (TRAC) มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รับหน้าที่เป็นผู้ศึกษาในเรื่องนี้ ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย

โดยทุนวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุน จากสมาชิกอันได้แก่ กลุ่มธุรกิจ โคคา-โคล่า ในประเทศไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ตลอดจนพันธมิตรของสมาคมฯ คือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตขวด PET รายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

“ความร่วมมือกันของผู้ผลิตเครื่องดื่มระดับแนวหน้า ซึ่งอันที่จริงก็เป็นคู่แข่งกันในตลาด กับผู้ผลิตขวดพลาสติกระดับโลก และสถาบันการศึกษาชั้นนำถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงจุดยืน และความมุ่งมั่น ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น สมาคมฯ มั่นใจว่าหากการปรับเปลี่ยนกฎหมายตามแนวทางดังกล่าวแล้ว จะทำให้เกิดการตื่นตัวของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยครั้งใหญ่ และหวังว่าจะมีหลากหลายภาคส่วนเข้ามาให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนต่อไป ”

ทางด้าน รศ. ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ที่ปรึกษา ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย และที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ขณะเดียวกันสถานการณ์ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนก็ติดอันดับต้นๆ ของโลก

สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะขวดเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติก PET นั้น มีสมบัติที่ดีหลายประการ ทนทาน น้ำหนักเบา และราคาถูก เราจึงพบว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งมักนำขวด PET เหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำ หลังการบริโภคเครื่องดื่ม ซึ่งบางครั้งก็นำไปใส่น้ำยาทำความสะอาดหรือสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตราย อาจทำให้เกิดความกังวลในการนำขวดดังกล่าวมารีไซเคิลได้

ดังนั้นการจะอนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลในไทย จึงต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยการศึกษาข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ให้ทราบข้อมูลว่าความเสี่ยงในการปนเปื้อนมีมากน้อยเท่าใด และมีสารชนิดใดที่จำเป็นต้องมีการตรวจประเมินบ้าง

โดยทีมวิจัยของสถาบันฯ นำโดย ผศ.ดร. ชนิพรรณ บุตรยี่ จะเข้ามาดำเนินการศึกษาในเรื่องนี้ ตลอดจนประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก rPET สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากประเทศชั้นนำ ที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลอย่างแพร่หลาย หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณา พัฒนาเป็นแนวทางการประเมินความปลอดภัยของเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET เพื่อนำมาผลิตเป็นขวดเครื่องดื่มใหม่ในไทยต่อไป

Recycling Indorama Polyester Industries
โรงงานรีไซเคิล PET ของ บมจ. อินโดรามาโพลีเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ จ.นครปฐม

ขณะที่ นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวเสริมว่า ในฐานะผู้ผลิตพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดของโลก อินโดรามา เวนเจอร์ส ตระหนักถึงบทบาทในการส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนและปลอดภัย จึงสนับสนุนความร่วมมือครั้งนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าบรรจุภัณฑ์ PET มีส่วนสำคัญในการทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสะดวกและปลอดภัย  ด้วยคุณสมบัตินี้เอง จึงทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้อย่างกว้างขวาง และการใช้บรรจุภัณฑ์จาก rPET จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบ ที่เกิดจากการต้องพึ่งพิงพลาสติกที่ผลิตใหม่แต่เพียงอย่างเดียว

“ในฐานะผู้ส่งออก rPET  เราสามารถยืนยันได้ว่าเทคโนโลยี ในการทำความสะอาด และกำจัดสิ่งสกปรกในกระบวนการรีไซเคิลในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก ได้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และหลายประเทศมีการใช้บรรจุภัณฑ์ผลิตจาก rPET อย่างปลอดภัยมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในสหภาพยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น ดังนั้น ประเทศไทยเองก็น่าจะได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้เช่นกัน แต่เราก็เห็นด้วยว่าการพิจารณาแก้กฎหมาย จะต้องดำเนินงานตามหลักวิชาการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะเกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง ”

20181009 135158 7 csr

ขอบคุณภาพประกอบจาก บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส  จำกัด (มหาชน)

Avatar photo