The Bangkok Insight

ปั้นเอสเอ็มอีไทย สู่ ‘ผู้ส่งออกอัจฉริยะ’ หวังหนุนส่งออกไทยครึ่งปีหลังฟื้น

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รุกกระตุ้นเอสเอ็มอีไทยส่งออกเพิ่ม ชูโมเดลความสำเร็จโครงการ “ผู้ส่งออกอัจฉริยะ”ปั้นรายย่อยกว่า 800 กิจการ ช่วยสร้างมูลค่าส่งออกให้กับประเทศแล้วกว่า 15,000 ล้านบาท

บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 2 1
บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำโครงการผู้ส่งออกอัจฉริยะ หรือ Smart Exporter เพื่อสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถส่งออกได้ให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น จนถึงปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมมาแล้ว 803 ราย ช่วยสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 15,000 ล้านบาท

ขณะที่ปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 17 มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 53 ราย แบ่งเป็นอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 18 ราย ธุรกิจบริการจำนวน13 ราย สุขภาพและความงามจำนวน 12 ราย แฟชั่น/ไลฟ์สไตล์จำนวน 6 ราย และสินค้าอุตสาหกรรมจำนวน 4 ราย เน้นการให้ความรู้ด้านการทำการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงระดับสูง อีกทั้งยังมีการปรับหลักสูตรและวิชาเรียนให้มีความเหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจยุคใหม่

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้ส่งออกประมาณ 30,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสัดส่วน 70% สร้างมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 30% ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืน ลดพึ่งพาการส่งออกจากบริษัทใหญ่ และสร้างเสถียรภาพทางการส่งออกให้มีทิศทางที่ดีกว่าเดิม ภาครัฐจึงจำเป็นต้องสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถส่งออกได้ให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้วยการสนับสนุนกิจกรรม การสร้างเครือข่าย ตลอดจนการให้ความรู้ที่จำเป็นในด้านต่างๆ

ขนมครก 1

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยข้อมูลการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ของประเทศไทยรวมมูลค่า 101,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,204,470 ล้านบาท ลดลง 2.7%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกยังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงและปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่น สงครามการค้าและภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นและกดดันการค้า การลงทุน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยถือว่ายังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดสำคัญเดิม อาทิ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ อาทิ แคนาดา และรัสเซีย

สำหรับรายสินค้าการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และกระจายตัวในหลายตลาด ทั้งตลาดจีน อาเซียน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และฮ่องกง โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม

“จุดแข็งที่สำคัญต่อการส่งออกไทย คือ มีการกระจายตัวของตลาดส่งออกในระดับดีกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค โดยปี 2561 การส่งออกไทยมีค่าดัชนีการกระจุกตัวของตลาดส่งออก อยู่ที่ 0.05 เป็นระดับที่ต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แสดงถึงความหลากหลายของตลาดส่งออกไทยที่ไม่ได้พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป”นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าว

Oleaf inside

ขณะที่ยุทธศาสตร์ในการส่งออกครึ่งปีหลังจากนี้ กรมฯจะเน้นการเจาะตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม และกระจายสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดแต่ละประเทศต้องการ เช่น การส่งออกไปยังประเทศอินเดียจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และอาหาร ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเป็นตลาดที่กำลังจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะ จ.โยโกฮาม่า ที่ขณะนี้กำลังนิยมเรื่องการทำสปา จ.คุมาโมโตะ นิยมสินค้าประเภทของชำร่วย กิ๊ฟช็อป

นอกจากนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 กรมฯจะดำเนินการโครงการแมทชิ่ง (Matching) ตลาดที่สามารถรองรับสินค้าการเกษตรที่จะมีผลผลิตออกมา ซึ่งมั่นใจว่าจะมีตลาดที่เพียงพอ รวมทั้งจะมีการ บูรณาการการทำการค้าออนไลน์ โดยแนวทางดังกล่าวจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้โตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3% รวมทั้งวางแผนผลักดันการส่งออกด้วยการใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ

Avatar photo