Digital Economy

BIDC ยกระดับคอนเทนต์ดิจิทัลไทยสู่การจับมือสตูดิโอ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี’

1528710751864 TOON0840

เมื่อเอ่ยถึงคอนเทนต์ดิจิทัลที่เรารู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น เกม, แอนิเมชัน, คาแรคเตอร์ และอีเลิร์นนิ่ง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดังกล่าวได้สร้างเม็ดเงินประมาณ 24,000 ล้านบาท และในปีนี้คาดการณ์ว่าจะสร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้นราว 10% นำไปสู่การเติบโตของตัวเลขเป็น 26,000 ล้านบาทตามการคาดการณ์ของดีป้า หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

เพื่อให้ได้มาซึ่งยอดเงินดังกล่าว หนึ่งในการสนับสนุนจากภาครัฐจึงเป็นการจัดงานมหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เฟสติวัล หรือ Bangkok International Digital Content Festival (BIDC) 2018 เพื่อช่วยต่อยอดธุรกิจในการทำ Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการคอนเทนต์ดิจิทัลของไทยและต่างประเทศ โดยมีธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน และประเภทในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง รวม 38 บริษัท ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าทางการค้าจากงานดังกล่าว 900 ล้านบาทเลยทีเดียว

ในงานดังกล่าว มีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) กับบริษัท TETERU (เทเทรุ) จากเกาหลีใต้ และบริษัท EEZ Production Studios (อีซ โปรดักชั่น สตูดิโอ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการของภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย เพื่อผลิตการ์ตูน 3D แอนิเมชั่น เรื่อง TETERU Secret of Teddy Bear Village จำนวน 26 ตอน ภายใต้งบประมาณการผลิตรวมกว่า 2.6 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 80 ล้านบาทด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งความร่วมมือในการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย กับ Fukuoka Creative Content Association (FCCA) เป็นสมาคมดิจิทัลจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่นที่เป็นศูนย์รวมสตูดิโอและครีเอทีฟที่มีศักยภาพชั้นนำกว่า 100 สตูดิโอที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

TUL 1398
นายทาเคชิ ฮิราตะ (ขวา)

อย่างไรก็ดี จากการเปิดเผยของนายทาเคชิ เอ็ม. ฮิราตะ ผู้บริหารระดับสูงของ FCCA สิ่งที่พบกลับสวนทางกับทิศทางการเติบโตในประเทศไทย โดยนายฮิราตะเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ดิจิทัล โดยเฉพาะในกลุ่มแอนิเมชันของญี่ปุ่นในตอนนี้อยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ทั้งในด้านโครงสร้างประชากรที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่การเสพคอนเทนต์ดิจิทัล โดยเฉพาะแอนิเมชันนั้นโดยมากเน้นจับกลุ่มเด็ก – วัยรุ่น เหล่านี้เป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการของญี่ปุ่นต้องหาทางจับมือกับต่างชาติในการผลิตผลงานมากขึ้น เพื่อให้ผลงานที่พัฒนาขึ้นนั้นสามารถตีตลาดโลกได้แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในญี่ปุ่นประเทศเดียว

ด้วยเหตุนี้ การจับมือกับประเทศไทย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ดิจิทัลในญี่ปุ่น และนอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีการจับมือกับเกาหลีใต้ จีน และประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทั่วโลกอีกด้วย

ด้าน ดร.นพ ธรรมวานิช ประธานสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกไทย เผยว่า การจับมือครั้งนี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากฟุกุโอกะมีอุตสาหกรรมคอนเทนต์ดิจิทัลขนาดใหญ่ที่กำลังมองหาคนทำงานเพิ่มเติม จึงมองว่าการเซ็น MOU ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลาย ๆ โปรเจค ทั้งการจ้างผลิต หรือการผลิตชิ้นงานร่วมกัน

แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มขยับตัวในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ดิจิทัลช้ากว่าเพื่อนบ้าน (เราจัดงาน BIDC เป็นปีที่ 5 ขณะที่หลาย ๆ ประเทศเริ่มก่อนเรามานานนับสิบปี) แต่ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ก็ถูกบรรจุลงเป็นหนึ่งใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะเป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0

ดังนั้นคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ตัวเลขของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ดิจิทัลภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐอย่างดีป้านั้น จะดันไปจนมีมูลค่า 26,000 ล้านบาทได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ซึ่งภายในสิ้นปีนี้เราคงได้ทราบกัน

Avatar photo