General

นักสูบเยาวชนพุ่ง 10.7 ล้านคน สธ.จับมือเครือข่าย เร่งสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่

เยาวชนไทย 10.7 ล้านคนสูบบุหรี่ คิดเป็น 19.1% กระทรวงสาธารณสุข จับมือเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนงานลดจำนวนนักสูบ ให้ปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังน้อยลง ตั้งเป้าลดอัตราการบริโภคยาสูบอย่างน้อย 30  % ในปี 2568 มุ่งเน้นสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ 

สาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนกว่า 400,000 รายต่อปี มาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงส่วนหนึ่งมาจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี พ.ศ. 2560 พบประชากรไทยอายุ 15 -19 ปี 55.9 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1%  แยกเป็นสูบเป็นประจำ 9.4 ล้านคน คิดเป็น 16.8 % และสูบนานๆ ครั้ง 1.3 ล้านคน คิดเป็น 2.3%

หากจำแนกสัดส่วนผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด ไล่เรียงตามอายุ กลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี มีอัตราการสูบ 9.7 % กลุ่มอายุ 25-44 ปี 21.9 % กลุ่มอายุ 20-24 ปี 20.7 % กลุ่มอายุ 45-59 ปี 19.1% กลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป 14.4 %

ประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ ๑๙๐๖๒๐ 0010
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชน ในช่วงปี 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และประมาณ 2-3 แสนคน เป็นผู้ติดบุหรี่หน้าใหม่ ทดแทนผู้สูบบุหรี่แล้วเสียชีวิต หรือเลิกสูบไป  สถานการณ์อย่างนี้ทำให้คาดการณ์ว่า อนาคตจะมีผู้เจ็บป่วยผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น กระทบภาคเศรษฐกิจสังคม

ประเทศไทยจึงตั้งเป้าหมายลดอัตราการบริโภคยาสูบลงอย่างน้อย 30 % ในปี 2568 ตามเป้าหมายการลดการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (The 9 global targets for NCD : 2025) และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า (ปี 2559-2573) ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC)

ทิศทางสำคัญ 3 ประการ คือ ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ลดปริมาณการสูบบุหรี่ต่อคน และทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

ประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ ๑๙๐๖๒๐ 0006

ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงาน สร้างเสริมความเข้มแข็ง และพัฒนาขีดความสามารถในการควบคุมยาสูบของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2  พ.ศ. 2559 – 2562 เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ เน้นในกลุ่มเยาวชน

“สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการพัฒนาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลข่าวสารงานวิจัยด้านการควบคุมยาสูบ การประเมินผล และการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังการควบคุมยาสูบ รวมถึงการสร้าง และพัฒนานักวิจัย และการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ เป้าหมายไปสู่การลดอัตราการสูบบุหรี่ และสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สามารถป้องกันได้ ”

และในการเปิดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 เรื่อง “Tobacco and Lung Health” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ และภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อคนไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การดำเนินงาน และพัฒนาเครือข่ายนักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบและผู้ใช้ข้อมูลความรู้ ได้แก่ บุคลากรวิชาชีพสุขภาพ นักวิชาการ นักเรียนนักศึกษา มีผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน

Avatar photo