COLUMNISTS

ฝาก ‘ดัชนีปิติ’ ให้รัฐบาลใหม่คิด เพื่อความ ‘ปิติ’ ของคนในชาติ

Avatar photo
793

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ฝบช. 2/2562 รายงานฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้จัดทำรายงานแสดงฐานของเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการ ทั้งในฐานะรวม ฐานะสุทธิ และฐานะล่วงหน้าสุทธิ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 7,678,274.37 ล้านบาท

pic 1538392319

ตัวเลขดังกล่าวเป็นสิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลออกมาตีปี๊บเหมารวมว่า เป็นภาพสะท้อนความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทย แต่ในความเป็นจริงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินสำรองระหว่างประเทศ เป็นผลมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาดูแลไม่ให้ค่าเงินแข็งค่าจนเกินไป

การบริหารจัดการเงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคปัจจุบัน จึงสร้างความมั่นใจให้คนไทยได้ว่า เราจะไม่ตกไปอยู่ในวังวนแห่งการเก็งกำไรค่าเงิน จนก่อให้เกิดวิกฤติทางการเงินเหมือนในอดีต เพราะมีการถอดบทเรียนที่เกิดในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง มากำหนดเป็นมาตรการกำกับดูแลอย่างรอบคอบ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ เมื่อตัวเลขในเงินสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้น จะมีใครอยากล้วงเอาเงินก้อนนี้มาใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น เช่น การลงทุน ซึ่งในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้แต่ไม่สำเร็จ

แต่แนวคิดเรื่องนี้ยังคงอยู่และมีแนวโน้มว่าอาจถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ โดยหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน รวมถึงว่าที่รองนายกรัฐมนตรีคุมเศรษฐกิจในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 ด้วย

ปีที่แล้วนายสมคิด เคยพูดถึงการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนให้เกิดประโยชน์ เช่น การตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ หรือ การลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูง โดยมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปศึกษาเรื่องนี้ เชื่อว่าในรัฐบาลหน้าเราอาจจะได้เห็นการผลักดันการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนอย่างจริงจังมากขึ้น

สิ่งที่อยากกระตุกไว้ให้ฉุกคิดคือ หลักการของเงินสำรองระหว่างประเทศ เปรียบง่าย ๆ ก็เหมือนเงินเก็บของครอบครัว เราจะเอาออกมาใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น การลงทุนควรใช้จ่ายจากรายได้ที่กันเอาไว้ ไม่ไปเกี่ยวข้องกับเงินเก็บ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงมากจนเกินไป

ในปัจจุบันรัฐบาลภูมิใจกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ ที่นายสมคิดอ้างว่า เป็นบทสะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย แต่ในอีกมุมหนึ่งหนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งสูงขึ้นติดอันดับ 10 ของโลก และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

photo verybig 163029

จากตัวเลขของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มีการเปิดเผยถึงรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่งปี 2562 พบว่า หนี้สินครัวเรือนไตรมาสสี่ปี 2561 เท่ากับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี เท่ากับร้อยละ 78.6 เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน

เมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย โดยหนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2562

ภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของประชาชน สะท้อนถึงกำลังในการจับจ่ายใช้สอยว่าจะลดลงตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เชื่อว่ารัฐบาลคงจะเตรียมออกแคมเปญลดหนี้ แก้หนี้ เหมือนที่เคยทำ แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องไม่ลืมคือลดหนี้อย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มรายได้ด้วย และการเพิ่มรายได้ที่ดีที่สุดคือ ไม่ใช่การเติมเงินใช้ประชาชนเป็นทางผ่านไหลไปเข้ากระเป๋านายทุน

แต่ต้องเป็นการเติมรายได้ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง มีอิสระในการใช้จ่าย ให้เงินไหลเวียนในชุมชน กระจายสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก กลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การเติมรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะนำนโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด ที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอไปใช้ ซึ่งจะทำให้เงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง กำลังซื้อก็จะเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจะไหลเวียน

ผลทางอ้อมที่ได้คือ จะช่วยให้รัฐลดงบประมาณที่ใช้กระตุ้นการบริโภคด้วยการลดแลกแจกแถมลงได้ เพราะต้องไม่ลืมว่านับตั้งแต่มีการแจกบัตรคนจน รัฐบาลประยุทธ์ ใช้เงินไปแล้วนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560-28 ก.พ.2562 รวมทั้งสิ้น 7.68 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แทนที่จะทุ่มเงินไปกับการแจก เปลี่ยนเป็นจัดสรรเงินเพื่อเพิ่มรายได้ ลดปริมาณคนจน เพิ่มคนไทยที่ยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งตัวเอง ภาระรัฐลดลง ประเทศไทยเข้มแข็งมากขึ้น

ส่วนตัวตั้งความหวังไว้ว่า รัฐบาลใหม่ที่มีประชาธิปัตย์ร่วมงานด้วย น่าจะได้พิเคราะห์ถึง 10 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอไว้ โดยเฉพาะการสร้างดัชนีปิติ (PITI) หรือ Prosperity Index Thailand Initiative ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชนแทนการยึดจากจีดีพีเพียงอย่างเดียว ถ้าทำได้ประเทศไทยจะพัฒนาและเจริญขึ้นอย่างยั่งยืน