General

เตือน! ระวังเห็ดพิษ ไม่ชัวร์อย่ากิน

กรมควบคุมโรค ออกโรงเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังการซื้อ หรือเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหาร เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะอาจเป็นเห็ดพิษ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ย้ำหากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร

ช่วงหน้าฝน จะมีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆจะเก็บมาปรุงอาหาร บ้างก็เก็บมาขายกันเกลื่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละปี กรมควบคุมโรค ระบุว่า พบผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต จากการกินเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่กินได้ และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 เมษายน 2562 ได้รับรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานเห็ดพิษ 42 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา 35-44 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ

เห็ด

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุ ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ “เห็ดระโงกพิษ” บางแห่งเรียกว่า “เห็ดระโงกหิน” “เห็ดระงาก” หรือ “เห็ดไข่ตายซาก” ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับ “เห็ดระโงกขาว” หรือ “ไข่ห่าน” ที่สามารถกินได้ แต่แตกต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง

นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรง คือ ” เห็ดเมือกไครเหลือง “ โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษ จะมีเมือกปกคลุม และมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า

ทั้งนี้มีภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้าย ที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษ จะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามวิธีเหล่านี้ ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษ ที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับอาการหลังรับประทานเห็ดพิษ จะมีอาการ ดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • หรือถ่ายอุจจาระเหลว

แนะนำไม่ควรซื้อยากินเอง หรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน โดยการช่วยเหลือในเบื้องต้น  จะต้อระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ล้วงคอให้อาเจียน หรือ ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกง แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมา แต่วิธีนี้ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย

ควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวัน จนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วย อาจมีอาการรุนแรงตามมา คือ การทำงานของตับ  และไตล้มเหลว อาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้

cff79ff1ff4acc3bf80ba6a58b2d09a6

นพ.สุวรรณชัย ย้ำว่า ขอเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเก็บ เห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน ที่สำคัญหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร

รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์ จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

1ae50cd3b2775fd9302c20c278f4a237

Avatar photo