Business

เหลื่อมล้ำสูง! จีดีพีโต 4.8% แต่ไม่รู้สึกเศรษฐกิจฟื้น

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์  รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประเทศไทย ไตรมาสแรกปี 2561 เติบโต 4.8% เป็นการเติบโตที่ระดับ 4% ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 นับจากไตรมาส 3 ปี 2560 ที่ 4.3% และไตรมาส 4 ปี 2560 ที่ 4.0%

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีที่บอกว่า “เศรษฐกิจ”ดีหรือไม่ อยู่ที่ตัวเลข “จีดีพี” ซึ่งสภาพัฒน์รายงานตัวเลขไตรมาสแรกปีนี้ อยู่ที่ 4.8%  โดยเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจเกือบ “ทุกตัว” บ่งบอกในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย

จีดีพี ปี2561
เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์
  • การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น ไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ 3.6% ตามการปรับตัวที่ดีขึ้น และกระจายตัวมากขึ้นของรายได้ในระบบเศรษฐกิจ สอดคล้องกับสินเชื่อภาคครัวเรือน และการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นการเติบโตต่อเนื่อง จาก 2 ปีก่อน “ติดลบ”
  • การลงทุนภาครัฐ ไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 4% หลังจากติดลบ 3 ไตรมาส ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในปีนี้
  • การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวตามการปรับตัวดีขึ้น ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกขน ไตรมาสแรก ปีนี้ เติบโต 3.1%  แสดงให้เห็นถึงการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ
  • การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 0.2% ขยับเป็น 1.9% ในไตรมาสแรก
  • การส่งออกรวมขยายตัวในเกณฑ์สูงขึ้นต่อเนื่อง ตามกการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการ ไตรมาสแรกมูลค่าส่งออกสินค้าเติบโต 9.9% และปริมาณการส่งออกบริการ เติบโต 9.4% เป็นการเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ ครึ่งปีหลัง 2561

จีดีพี ไตรมาสแรกที่เติบโต 4.8%  เป็นตัวเลขที่เติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี หากเศรษฐกิจไทยยังรักษาการเติบโตที่ตัวเลขสูงกว่า 4 %  ได้ต่อเนื่อง ประเทศไทยจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเติบโตต่ำมา 5 ปี

“ตัวเลขจีดีพี ที่เติบโตขึ้น ถือเป็นข้อเท็จจริงจากดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจด้านต่างๆ  แต่การสำรวจฝั่งผู้ประกอบการของหอการค้าไทยในต่างจังหวัด ยังไม่รู้สึก ถึงการฟื้นตัวและดีขึ้น ของเศรษฐกิจไทย เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย”

ราคาสินค้าเกษตร-รายได้ “ติดลบ”

หากดูจีดีพี ไตรมาสแรกปีนี้ ด้านการผลิตภาคเกษตร ถือว่ากลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูง หลังจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในไตรมาสก่อนหน้า ที่ติดลบ 1.3%  ขณะที่ไตรมาสแรกเติบโต 6.5%  แต่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ยังติดลบ 12.3% และรายได้เกษตรกร ติดลบ 4.8%

จีดีพี ปี2561

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 3.7%  โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 72.4%  เพิ่มขึ้นจากไตรมาส4 ปีก่อนที่ 64.7%

โรงแรมและภัตตาคาร  ไตรมาสแรกขยายตัวในเกณฑ์สูง สอดคล้องกับจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  โดยการผลิตเติบโต 12.8%  จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เติบโต 15.4%  และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เติบโต 19%

การขายส่งและขายปลีกไตรมาสแรกขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ 7%  สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

การก่อสร้าง ไตรมาสแรกปีนี้ เติบโต 1.2% เป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ปรับตัวดีขึ้นทั้งการก่อสร้างภาครัฐ และเอกชน

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยขยายตัวจากเศรษฐกิจโลก พบว่าคู่ค้าของไทย จีดีพีไตรมาสแรกสูงกว่าประมาณการ และคู่ค้าในเอเชียหลายประเทศ จีดีพีขยับขึ้นสูง จากการส่งออก  พบว่าเศรษฐกิจโลกและหลายประเทศกำลังฟื้นตัว จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น

 “จีดีพี”รายภาคโตกระจุกตัว

สำหรับตัวเลขจีดีพี ที่สภาพัฒน์รายงาน และดัชนีการเติบโตของตัวเลขต่างๆ  ผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ อาจมีความเห็นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ สัดส่วน จีดีพี ของแต่ละภาค ซึ่งมีขนาดแตกต่างกัน

ดังนั้นเมื่อภาพรวมจีดีพีเติบโต จะส่งผลไปยังภูมิภาคที่มีจีดีพีขนาดใหญ่เป็นลำดับแรก เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล  ภาคตะวันออก ที่มีสัดส่วนเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของประเทศ

จีดีพี ปี2561

“เดิมหากบอกว่าเศรษฐกิจดี จะดีเหมือนกันหมดแบบกระจายตัว แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจของรายภาคแตกต่างกัน เป็นการเติบโตแบบกระจุก และไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคสินค้าและบริการ”

ดังนั้นหากภาคใด้ มีอุตสาหกรรมเติบโต เช่น ภาคบริการ(ท่องเที่ยว) การค้า(ส่งออก) อยู่ในสัดส่วนสูง ก็จะรู้สึกถึงการฟื้นตัว  แต่หากภาคใดที่มูลค่าสินค้าเกษตรมีสัดส่วนสูง ก็จะยังไม่รู้สึกถึงการฟื้นตัว เพราะสินค้าเกษตรยังติดลบ

นอกจากนี้บางส่วนยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายของภาคประชาชน ซึ่งมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคต่างกัน

 “จีดีพี”ข้อเท็จจริงกับความรู้สึก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ จะดูจาก “ข้อเท็จจริง” (fact) และ“ความรู้สึก” (feeling) ตัวเลขจากกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ  ที่ได้จากภาคเอกชน บางข้อมูลเป็นการกรอกตัวเลข บางข้อมูลเก็บจากตัวเลขจริงจากการจ่ายภาษี  ยอดขายรถยนต์ ยอดเข้าพักในโรงแรม ดังนั้นเมื่อตัวเลขต้นทางถูกต้อง ข้อมูลปลายทางก็จะสะท้อนความจริงที่แม่นยำ

หอการค้าไทย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

ตัวเลขจีดีพีจากสภาพัฒน์ไตรมาสแรกโต 4.8%  เป็นตัวเลขที่มาจากข้อเท็จจริง แต่ความรู้สึก คนอาจยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้น หรือดีขึ้น มาจากหลายปัจจัย

“หากเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจไทยเชิงการแพทย์  ประเทศไทยเป็นคนไข้ที่ฟื้นตัวสู่ภาวะ  จากก่อนหน้านี้ป่วยอยู่ห้องไอซียู  วันนี้แม้ผลตรวจบอกว่าเป็นปกติ ภาพร่างกายดีขึ้นแล้ว แต่ยังอาจวิ่งไม่ได้เร็วนัก และคนไข้ยังรู้สึกไม่ดีขึ้น”

การประเมินเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีตัวเลขครบถ้วนทุกด้าน จากการสำรวจผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมทั้งข้อมูลจากหอการค้าจังหวัด และภาคทฤษฎีเชิงวิชาการ ตัวเลขที่ประเมินจึงไม่สามารถคลาดเคลื่อนไปจากตัวเลขของหน่วยงานราชการ  โดยให้กรอบจีดีพี ปีนี้เติบโตที่ 4.2-4.6%  หลังจากตัวเลขสภาพัฒน์ไตรมาสแรกเติบโต 4.8%  หอการค้าไทยจึงมองว่า “เศรษฐกิจฟื้นแล้วและดีขึ้น” และประเมินว่าปีนี้ จีดีพีไทยอาจเติบโตที่ 4.5%

จีดีพี ปี61

อุตสาหกรรมเปลี่ยนโครงสร้างยุค4.0

ปัจจัยที่ทำให้ ผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว มาจากโครงสร้างธุรกิจบางอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีและการแข่งขัน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโต แต่วันนี้ต้องเผชิญกับดักเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในยุค 4.0  การจ่ายเงินท่องเที่ยวผ่านระบบเพย์เมนต์ของต่างประเทศ เช่น “อาลีเพย์” ดังนั้นการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ประเทศไทยได้ประโยชน์ แต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากต่างชาติได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่านอกจากเศรษฐกิจโลกจะเผชิญปัญหาเชิงพื้นฐานแล้ว ยังเจอปัญหาเชิงโครงสร้างเปลี่ยนจากเทคโนโลยี

เช่นเดียวกับภาคเกษตร ที่วันนี้ตัวเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ทำไมภาคการเกษตรยังไม่ได้อานิสงส์ และคนยังไม่รู้สึกดีขึ้น มาจากการปรับโครงสร้าง 4.0 การก้าวสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่เกิดขึ้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว จะเห็นได้ว่า ตัวเลขจีดีพี ที่เป็นข้อเท็จจริง กับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจฟื้นจริง จากตัวเลขส่งออกที่ปีนี้น่าจะเติบโต 8-10%  ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้น่าจะทำได้ 39 ล้านคน  โดยมีการลงทุนของ”อีอีซี” และเมกะโปรเจคต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตในครึ่งปีหลัง จึงฟันธงว่า เศรษฐกิจจะเริ่มรู้สึกว่าเติบโตจริงในเดือนธันวาคมปีนี้  เพราะสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ บ่งชี้ชัดเจนว่าดีขึ้นต่อเนื่อง

วันนี้ “หนี้ครัวเรือน” ยังเป็นปัญหา ทำให้คนไม่ซื้อสินค้า แต่ปัจจุบัน ตัวเลขเงินออมสูงกว่ารายจ่าย โดยกลุ่มคนที่มีปัญหาทุกครั้งจากการสำรวจคือ กลุ่มที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน แต่เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่สูง

แต่เมื่อความรู้สึกบอกว่า เศรษฐกิจยังมีปัญหา ทำให้กลุ่มที่มีเงินออมไม่กล้าใช้จ่าย เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

รายได้ไทย“เหลื่อมล้ำสูง”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าตัวเลขจีดีพี ไตรมาสแรก เติบโต 4.8%  แต่ยังไม่เกิดความเท่าเทียมเท่าในทุกภูมิภาค มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างรายได้ของประชากรในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ติดอันดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

โดยคนรวยที่สุด 10% มีรายได้มากกว่า 35เท่า ของคนจนสุด 10% และเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ  และคนรวย 0.1%  ของประชากรไทย มีเงินฝากธนาคารเกือบครึ่งหนึ่งของเงินฝากทั้งหมด

จีดีพี ปี2561

ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง มาจากนโยบายที่ไม่ทัดเทียมในแต่ละภูมิภาค  พบว่าสัดส่วน 40% ของประชากรไทย หรือประมาณ 27 ล้านคน เป็นคนจนและคนเกือบจนและผู้มีรายได้น้อย  หรือรายได้ต่ำกว่า 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 65,000 ต่อปี   ในกลุ่มดังกล่าวสัดส่วน 20% ของประชากรไทย หรือประมาณ 10 ล้านคน เป็นคนจนและเกือบจน รายได้ต่ำกว่า 3,200 บาทต่อคนต่อเดือน

คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรมียุทธศาสตร์รองรับ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มุ่งยกระดับกลุ่ม 40% ที่มีรายได้น้อย ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อปี

จีดีพี ปี2561

“การปรับโครงสร้างให้มีความเท่าเทียม มุ่งสร้างการขยายตัวระหว่างภูมิภาคกับส่วนกลางให้เชื่อมโยงกัน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเน้นใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนและสร้างรายได้มากขึ้น”

Avatar photo