Politics

ยังไงล่ะเนี่ย!! ปชป.ตั้งแง่ขอดูหน้าใครนายกฯ ก่อนตัดสินใจร่วมรัฐบาล

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมายังพบแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเจรจาต่อรองการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่าการหารือทั้ง 2 พรรค ไม่มีประเด็นร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล เป็นการพูดคุยถึงหลักการทำงาน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์แจ้งไปว่า

ขันหมาก4

1.พรรคจะยึดประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.จะยึดนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน ที่ต้องมีการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางใด จะยึดชุดนโยบาย แก้จนสร้างคนสร้างชาติ

3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ  มีบางพรรคนำไปต่อยอดพูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  หากจำได้ในวันที่ลงประชามติ รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนว่า”ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”  เมื่อมีการประกาศใช้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย แม้จะยังไม่เต็มใบ  เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกพรรคการเมืองต้องดูว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญส่วนไหนที่ขาดตกบกพร่อง  ส่วนไหนที่ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนลดน้อยถอยลง รวมถึงไม่มีความชัดเจนในการพัฒนาประเทศ

นี่คือสาระสำคัญที่พรรคเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ ไม่มีการต่อรองร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองมีความมเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการพิจารณาแก้ไข  ยืนยันไม่มีการต่อรองทางการเมือง

“เมื่อเราเสนอหลักการทำงานไปแล้ว เป็นหน้าที่ของพลังประชารัฐจะไปพิจารณาข้อมูลที่เสนอไปผลเป็นอย่างไร เขาก็ต้องแจ้งกลับมา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะเลขาธิการพรรค ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารพรรค ให้เป็นผู้ประสานงานทางการเมืองกับพรรคการเมืองต่างๆ ต้องนำกลับมารายงานต่อคณะกรรมการบริหารพรรค และที่ประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส.และกรรมการบริหารพรรค”

ปชป.332

วันนี้ (28 พ.ค.) เวลา 17.00 น. จะประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค จากนั้นเวลา 17.30 น. ก็จะประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. โดยวาระการประชุมระบุไว้แล้วในวาระที่ 3 เรื่องพิจารณาการประสานงานทางการเมือง หลังประชุมจะแถลงต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง” นายราเมศ กล่าว

นายราเมศ กล่าวว่าดังนั้นกรณีการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของคนหนึ่งคนเดียว แต่สมาชิกพรรคผู้เป็นเจ้าของมีสิทธิ์มีเสียง อาจจะมีข่าวและเสียงสะท้อนจากสมาชิกพรรคหลายส่วนหลายกลุ่ม และโลกออนไลน์ เกี่ยวกับการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล การบริหารพรรค กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. จะรับฟังความเห็นต่างๆ ขอให้ประชาชนวางใจในกระบวนการพิจารณาของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลไม่มีใครมีสิทธิ์ตัดสินใจคนเดียว

คำประกาศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือจุดยืนทางการเมืองที่สำคัญที่สุด ขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรค เป็นการหาเสียงระหว่างเลือกตั้ง บทบาทหน้าที่ของท่านต้องแสดงจุดยืนในฐานะผู้นำองค์กร แต่กระบวนการประชุมร่วมกันสาระสำคัญ องค์ประชุมต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาด้วยเหตุผล การประชุมต้องพิจารณาก่อนว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล การร่วมรัฐบาลต้องดูว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงคือใคร นี่คือข้อบังคับได้กำหนดไว้ นายเฉลิมชัย คนเดียวไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าพรรคจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ส่วนเงื่อนไขของพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่าถ้าร่วมรัฐบาลต้องสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่เงื่อนไขที่ผูกมัดพรรคประชาธิปัตย์

“ขณะนี้พรรคยังไม่ได้ตอบรับว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ โดยพรรคจะรับฟังเสียง 3.9 ล้านเสียง ที่เลือกเรามาแน่นอน การจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับประชาชน” นายราเมศ กล่าว

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight