General

น้ำมันกัญชามาแรง!! เตือนต้องสั่งจ่ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรม

กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ป่วยที่ใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ ต้องได้รับการสั่งจ่ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมของกรมการแพทย์ และกรมการแพทย์แผนไทยเท่านั้น  ด้านอย. แจงให้ผู้ป่วยครอบครองกัญชาหลังวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ ได้อีก 3 เดือน

DSC 3186
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

ใครๆก็อยากหายจากโรคร้าย หนทางไหนรักษาได้ย่อมต้องแสวงหามา เมื่อ “กัญชา” ถูกปั่นกระแสให้เป็น “สารพัดประโยชน์ ” สารสกัดน้ำมันกัญชาเลยกลายเป็นที่ต้องการสูงมากในเวลานี้ จนกระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงว่า จะมีการผลิตและนำไปใช้อย่างไม่ระมัดระวัง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาย้ำว่า ผู้ป่วยไม่สามารถนำสารสกัดน้ำมันกัญชามาใช้รักษาโรคได้ด้วยตนเอง ต้องได้รับการรักษา สั่งจ่าย และควบคุมจากบุคลากรทางการแพทย์ ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมการแพทย์ และกรมการแพทย์แผนไทย เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิผล มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงการรักษา

โดยได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ จัดอบรมการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แก่แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ทั้งหน่วยงานในและนอกกระทรวงสาธารณสุข อาทิ กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย เอกชน และบุคคล

ในปีงบประมาณ 2562 กำหนดจัด 6 รุ่น ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน และรุ่นพิเศษสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2562 ขณะนี้อบรมรุ่นที่ 1 แล้ว มีผู้ผ่านการประเมิน 175 คนจากที่เข้ารับการอบรม 192 คน รุ่นที่ 2 จะอบรมวันที่ 23 – 24 พฤษภาคม 2562 ขณะนี้เปิดลงทะเบียนออนไลน์รุ่นที่ 3 – 6 พร้อมกันทางเว็บไซต์กรมการแพทย์ http://www.dms.moph.go.th/dms จำนวนรุ่นละ 300 คน

นอกจากนี้ให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อบรมวิทยากร ครู ก หลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย แก่แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกร หมอพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายน 2562 มีผู้ผ่านการประเมิน 157 คนจากที่อบรมทั้งหมด 172 คน โดยวิทยากร ครู ก จะไปขยายผลอบรมแก่บุคลากรในระดับเขตสุขภาพ และกทม. ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562

Canabis disease

ทั้งนี้ ในการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันสำหรับการดูแลรักษา และควบคุมอาการของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล ไม่แนะนำให้ใช้เป็นการรักษาเริ่มต้น โดยใช้รักษาใน 3 กลุ่ม โดย 1 กลุ่มชัดเจนแล้ว แต่อีก 2 กลุ่มยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม  ประกอบด้วย

1.สารสกัดกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษา ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก และที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล

2.สารสกัดกัญชา น่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนหรือการวิจัยเพิ่มเติม เช่น โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล โรคปลอกประสาทอักเสบ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น

3.สารสกัดกัญชาอาจมีประโยชน์ในการรักษาแต่ยังขาดข้อมูลจากการวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจนเพียงพอในด้านความปลอดภัยและประสิทธิผล ซึ่งต้องศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองก่อนนำมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ เช่นการรักษามะเร็ง และโรคอื่น ๆ

ปก
นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ทำหน้าที่นิรโทษกรรมผู้ป่วยครอบครองกัญชา ซึ่งสิ้นสุดการแจ้งครอบครองไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. ย้ำว่า  ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 ผู้มีความประสงค์แจ้งนิรโทษครอบครองกัญชา จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน คือ ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 19 พฤษภาคม 2562

แต่เนื่องจากวันที่ 19 -20 พฤษภาคม 2562 เป็นวันหยุดราชการ จึงกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการแจ้งครอบครองกัญชาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ซึ่งผู้ป่วยที่แจ้งครอบครองกัญชาสามารถใช้ยากัญชาต่อเนื่องได้ จนกว่าจะมีกัญชาใช้ในระบบการรักษา โดยปริมาณของกัญชาที่มีไว้ในครอบครองในการรักษาโรคเฉพาะตัว ต้องเหมาะสมกับลักษณะของโรค และปริมาณที่จำเป็นต้องใช้

โดย อย.รับแจ้งให้ผู้ป่วยครอบครองต่อได้อีก 6 เดือน นับจากวันที่กฎหมายประกาศใช้ หรือประมาณ 3 เดือน หลังวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ขอให้ผู้ป่วยที่แจ้งครอบครองกัญชาเข้าใจถึงระยะเวลาที่สามารถครอบครองกัญชาในการรักษาโรคเฉพาะตัว

และยืนยันว่าหลังจากนี้ จะมียากัญชาที่ผลิตอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมทั้งมีแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมการสั่งใช้ยากัญชา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

Avatar photo