Business

เอ็มเคร่วมทุน‘เซนโค’ญี่ปุ่นรุกโลจิสติกส์‘บีทูบี’เล็งขยาย‘บีทูซี’

ภาพรวมธุรกิจอาหาร ธุรกิจการขนส่ง และกระจายสินค้า (โลจิสติกส์) ในประเทศไทย เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลัก “แสนล้านบาท” มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากเทรนด์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เข้ามา disrupt ธุรกิจ ทำให้ต้องปรับตัวเข้าสู่ตลาดนี้ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป!!

เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจหลัก ร้านอาหารสุกี้ยากี้และขยายสู่แบรนด์ร้านอาหารต่างๆ   มากว่า 30 ปี เดินหน้าใช้กลยุทธ์พันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ด้วยการร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์จากประเทศญี่ปุ่น คือ บริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (SENKO Group Holdings Co., Ltd.) จัดตั้งบริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ เพื่อดำเนินธุรกิจบริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยถือหุ้นสัดส่วนเท่ากันที่ 50%

เอ็มเค โลจิสติกส์

 รุกโลจิสติกส์ต่อยอดธุรกิจ

สมชาย หาญจิตต์เกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เอ็มเค” เห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจด้านโลจิสติกส์ในยุคที่อีคอมเมิร์ซขยายตัวสูง การดำเนินงานของบริษัทร่วมทุน  เฟสแรกในงบลงทุนรวม 1,500 ล้านบาท  โดยช่วงแรกใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท สร้างคลังสินค้า ในพื้นที่ 33 ไร่ ย่านถนนบางนา-ตราด กม.21  และใช้งบประมาณอีก 200 ล้านบาท สร้างคลังสินค้าแห้ง (Dry warehouse) เพื่อให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร

ทั้งนี้ เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จะให้บริการในเดือนสิงหาคม 2562  หลังจากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบวางเป้าหมายรายได้ปีละ 1,800  ล้านบาท ภายใน 3 ปี ก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลจิสติกส์แบบเย็นอย่างครบวงจร

เอ็มเค โลจิสติกส์

“การร่วมทุนกับเซนโคฯ ผู้นำด้านโลจิสติกส์ อันดับ 2 จากญี่ปุ่น ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของเอ็มเค ในการขยายธุรกิจให้เติบโต โดยทั้ง 2 บริษัทจะใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่าย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจโลจิสติกส์”

สมชาย กล่าวว่าสำหรับจุดแข็งของเอ็มเค คือการเป็นผู้นำธุรกิจอาหาร ที่มีความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ส่วนเซนโคฯ เป็นบริษัทที่ชำนาญด้านการจัดหาวัตถุดิบจากต่างประเทศ นำเข้า-ส่งออก การจำหน่ายสินค้า มีฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม จึงช่วยต่อยอดธุรกิจได้อย่างดี พร้อมส่งต่อลูกค้าของเซนโคฯ จากญี่ปุ่น มาใช้บริการในบริษัทร่วมทุนในไทย  โดยเซนโคฯ ญี่ปุ่น เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในกลุ่มค้าปลีก เช่น ดองกิ, อิออน ,แฟมิลี่มาร์ท

ชู 4 บริการเจาะกลุ่ม “บีทูบี”

พงษ์ชัย พิพิธวิจิตรกร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่าธุรกิจโลจิสติกส์ของบริษัท ให้บริการ 4 ประเภท คือ การให้บริการคลังสินค้า (Warehouse) การขนส่ง (Transport) บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้า (Forwarding) และการซื้อขายสินค้า (Trading) โดยเน้นไปที่การขนส่งสินค้าแบบเย็น (Cold chain) ครบวงจร ด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ เพื่อควบคุณภาพกระบวนการขนส่ง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการในตลาดที่สามารถให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบเย็นได้ครบวงจรทั้ง 4 เซอร์วิสดังกล่าว

เอ็มเค โลจิสติกส์
พงษ์ชัย พิพิธวิจิตรกร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด

ในช่วงแรกจะเน้นเจาะลูกค้าภาคธุรกิจ (B-2-B) ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านอาหารแบบเครือข่ายทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ รวมถึงธุรกิจค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท เป็นต้น

 “เอ็ม-เซนโค”เล็งขยายตลาดอาเซียน

ด้าน ฮิโรชิ ยามาโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่าเซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์รายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศญี่ปุ่น มีจุดแข็งและโนวฮาวบริการโลจิสติกส์แบบห้องเย็น เพื่อส่งสินค้ากว่า 100 ปี ปัจจุบันดำเนินธุรกิจมาถึงเจนเนอเรชันที่ 7  มีธุรกิจกระจายอยู่ในสหรัฐ เกาหลีใต้ จีน เอเชียกลาง และอาเซียน ประกอบด้วยไทยและเมียนมา

เอ็มเค โลจิสติกส์
ฮิโรชิ ยามาโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น บริษัทมีเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ทุกรูปแบบกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันมีรายได้กว่า 1.03 แสนล้านบาท จึงเชื่อมั่นว่าการขยายธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่เติบโตต่อเนื่อง

“ใน 3-5 ปี เอ็ม-เซนโค จะเพื่อเป็น One-stop Service ด้วยการขยายบริการสู่คลังสินค้าแห้ง รวมถึงขยายธุรกิจไปยังตลาดภูมิภาคอาเซียน ในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) และพัฒนารูปแบบการบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภครายย่อย (B-2-C) ในอนาคต”

วางเครือข่ายร้านอาหารจุดรับสินค้า“บีทูซี”

วีระ โอวริทธิ์กุล ผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันเอ็มเค มีส่วนงานโลจิสติกส์อยู่แล้ว มีพนักงานประมาณ 500 คน  โดยส่วนงานนี้จะโอนไปอยู่ภายใต้บริษัทร่วมทุน เอ็ม-เซนโค หลังจากเปิดบริการในช่วง 1-2 ปีแรก จะเป็นบริการโลจิสติกส์ของเอ็มเคไม่เกิน 50% หลังจากนั้นจะลดลงเหลือ 25% จากการขยายกลุ่มลูกค้านอกเอ็มเค มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีลูกค้านอกเอ็มเค ติดต่อที่จะใช้บริการโลจิสติกส์เข้ามาแล้ว

เอ็มเค โลจิสติกส์

หลังจากเฟสแรก ให้บริการโลจิสติกส์ แบบบีทูบีแล้ว ในเฟสต่อไปมองโอกาสให้บริการโลจิสติกส์แบบ “บีทูซี” ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเซนโคฯ ญี่ปุ่นมีโนว์ฮาวดังกล่าว อีกทั้งตลาดไทยมีโอกาสขยายตัวจากการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ

แนวทางการขยายธุรกิจโลจิสติกส์ “บีทูซี” ปัจจัยสำคัญคือ “จุดรับ”สินค้า ซึ่งเอ็มเคฯ มีร้านอาหารในเครือข่ายกว่า 600 จุด ทั้งแบรนด์เอ็มเคฯ ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ ร้านมิยาซากิ  ที่สามารถใช้เป็นจุดรับสินค้า รูปแบบการให้บริการ จะเน้นจุดแข็งของเอ็มเคในการให้เซอร์วิสด้านบริการส่งสินค้าแบบเย็น และสินค้าทั่วไป ที่จะให้บริการส่งสินค้าถึงผู้บริโภคทั้งเซอร์วิสของบริษัทเอง และของลูกค้าที่ต้องการส่งสินค้าถึงผู้บริโภค

 

Avatar photo