Economics

Synergy!! 2 บริษัทกลุ่มปตท.จับมือซื้อขายหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU 757 ล้านดอลลาร์

“ไทยออยล์ – GPSC” ปิดดีลซื้อขายหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU มูลค่า 757 ล้านดอลลาร์ ใช้กากน้ำมันที่เหลือ จากกระบวนการกลั่น ผลิตกระแสไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ 

วันนี้ (10 พ.ค.) บริษัท เอนเนอยี รีคอฟเวอรี่ ยูนิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ลงนามซื้อหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit : ERU) วงเงิน 757 ล้านดอลลาร์ ผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง จากบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่ง  ERU  เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ของบริษัทไทยออยล์ ที่ใช้กากน้ำมันที่เหลือจากกระบวนการกลั่น มาใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566

โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขาย และกล่าวว่า โครงการดังกล่าว นับเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการของภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน โดยการนำกากน้ำมัน ซึ่งไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการกลั่นได้อีก มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพลังงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการประสานความร่วมมือขององค์กรที่มีความเชี่ยวชาญ ในธุรกิจการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและธุรกิจไฟฟ้า เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

1052019 ๑๙๐๕๑๐ 0015
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างพลังร่วม (Synergy) ในกลุ่ม ปตท. โดย ไทยออยล์ ดำเนินธุรกิจการกลั่น และปิโตรเคมีและ GPSC บริษัทธุรกิจไฟฟ้า

โดยได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อขาย ERU ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสองบริษัท ได้ดำเนินกิจกรรมตามธุรกิจหลัก (Core Business) และใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านการกลั่น และไฟฟ้า เพื่อความเป็นเลิศของกลุ่ม ปตท. รวมถึงสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐร่วมกัน

1052019 ๑๙๐๕๑๐ 0020
อธิคม เติบศิริ

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไทยออยล์ ได้มีมติอนุมัติการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด ( CFP ) โดยมีวงเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 4,825 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้เพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นปัจจุบันของไทยออยล์ จากกำลังการกลั่นที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะประกอบไปด้วยการสร้างหน่วยผลิตใหม่ต่างๆ หลายหน่วย อาทิ หน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 4 หน่วยแตกตัวน้ำมันหนักให้เป็นน้ำมันเบาโดยใช้ Hydrogen หรือ RHCU และ หน่วย  ERU ซึ่งทำหน้าที่หลักในการผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ ให้เพียงพอต่อความต้องการของโครงการ CFP

การจัดทำโครงการ CFP ดังกล่าว บริษัทมีแนวทางที่จะจัดหาผู้สนใจลงทุนในหน่วย ERU แทนการลงทุนจัดสร้างเองทั้งหมด เพื่อเป็นการลดภาระเงินลงทุนในโครงการ CFP และได้พิจารณาเห็นว่า GPSC มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ลงทุนหน่วย ERU เนื่องจากเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจไฟฟ้า มีความรู้ความชำนาญในการดำเนินการหน่วยผลิตไฟฟ้า และมีความเข้าใจในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี”

“การที่ GPSC เข้าลงทุนในหน่วย ERU จะทำให้ไทยออยล์ลดภาระการลงทุนในโครงการ CFP ลงประมาณ 15 % ทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่ง และเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อรองรับการลงทุนอื่นๆได้ในอนาคต นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังสามารถร่วมกับ GPSC บริหารจัดการ และควบคุมดูแลคุณภาพในการดำเนินโครงการ CFP และหน่วย ERU ในด้านความปลอดภัย ความมั่นคงในการผลิต และดำเนินการเกี่ยวกับ Plant Optimization ของโรงกลั่นได้เช่นเดิม อีกด้วย ”

1052019 ๑๙๐๕๑๐ 0007 1

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC  กล่าวว่า การลงนามสัญญาซื้อขายหน่วยผลิตพลังงาน ERU กับบริษัท ไทยออยล์ ในการเข้าซื้อหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 757 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 24,113 ล้านบาท

คาดว่าจะสามารถรับโอนกรรมสิทธิ์หน่วย ERU ได้ในปี 2566 ในครั้งนี้ GPSC จะดำเนินการผ่านบริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้น 100% โดยวางแผนการชำระเงินให้กับ ไทยออยล์ ตามความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการ โดยในช่วง 4 ปีแรก (2562-2565) จะชำระเป็นวงเงินทั้งสิ้น 138 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 20% ของวงเงินลงทุน โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ และในปี 2566 บริษัท จะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน เพื่อมาชำระให้กับไทยออยล์ ในส่วนที่เหลือทั้งหมด อีก 80%

นายชวลิตกล่าวว่า การดำเนินงานครั้งนี้นับเป็นการเพิ่มโอกาสการเติบโตในธุรกิจจากเชื้อเพลิงในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ซึ่งจะเป็นการต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต ในการสร้างเสริมประสบการณ์ของการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ที่มีการใช้เชื้อเพลิงที่มีความหลากหลาย ในการนำกากน้ำมันที่เหลือจากกระบวนการกลั่นมาเป็นเชื้อเพลิง

 

Avatar photo