COLUMNISTS

โรงเรียนริมป่า “Childhood”

496

childhood

ครูปุ๊กตั้งหน้าตั้งตารอคอยชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “โรงเรียนริมป่า” หรือ “Childhood” มากว่า 2 เดือนแล้ว เพราะอยากรู้จริง ๆ ว่าในประเทศที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตสูงและมีระบบการศึกษาดีเยี่ยมนั้นเค้ามีการจัดการเรียนการสอน ตามวิถีธรรมชาติให้กับเด็กเล็ก ๆ อย่างไร และเราจะทำอะไรให้กับเด็ก ๆ ของเราได้บ้าง

“Childhood” หรือ “โรงเรียนริมป่า” เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทำจากสถานการณ์จริงตลอดระยะเวลา 1 ปี ณ Aurora Waldorf School ประเทศนอร์เวย์ โดยสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัย (อายุ 3 – 7 ขวบ) ด้วยวิถีธรรมชาติผ่านการเล่นและการลงมือทำ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เหมาะสำหรับพ่อแม่ ครู และผู้ที่รักการทำงานด้าน พัฒนาเด็กตามธรรมชาติของวัยและการทำงานของสมอง

Hood หมายถึง ผ้าคลุมศีรษะ Childhood จึงหมายถึง ผ้าที่คลุมครอบความเป็นเด็กเอาไว้ และเป็นหน้าที่ ๆ สำคัญยิ่งของผู้ใหญ่อย่างพวกเราทุกคนที่จะช่วยกันหวงแหนให้เด็กได้เป็นเด็กจริง ๆ ตามธรรมชาติของวัย

ครูได้ดูแล้วได้ข้อสรุปหลายอย่าง และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับพ่อแม่ และผู้ที่ทำงานกับเด็กในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • “งานของเด็กคือการเล่น” ธรรมชาติจัดสรรให้เด็กต้องเล่นและลงมือทำ แม้ไม่มีของเล่นสำเร็จรูปแต่สัญชาตญาณและแรงขับภายในรวมถึงการทำงานของสมองจะนำพาให้เด็กจับ สัมผัส และเล่นกับสิ่งรอบตัว
  • “ธรรมชาติคือห้องที่ใหญ่ที่สุดและสวยที่สุด” ธรรมชาติคือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กตั้งแต่อากาศ หิมะ สายน้ำ ทราย ต้นไม้ ก้อนหิน เห็ด โพรงไม้ กิ่งไม้ต่างนำพาให้เด็ก ๆ เชื่อมโยงสิ่งรอบตัวนี้กับจินตนาการและการเล่นโดยไม่ต้องให้ใครมาชี้แนะ มากำกับการเล่น เด็กเล่นเป็นได้เองตามธรรมชาติ และเมื่อเขาเล่นอยู่ ผู้ใหญ่ควรปล่อยให้เขามีพื้นที่อิสระ ใช้ฐานกาย ฐานจิต และฐานคิดอย่างเต็มตัวตนของเขา ผู้ใหญ่อย่างเราเพียงมองดูความปลอดภัยอยู่ห่าง ๆ ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงการเล่นอิสระของเด็กแต่อย่างใด
  • การพัฒนาเด็กต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามจังหวะความพร้อมของเด็ก ไม่รีบเร่ง มีเวลาให้เด็กเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ อย่างเต็มที่
  • ไม่จำเป็นต้องใส่สิ่งที่ยังไม่ถึงวัยให้กับเด็ก ให้เด็กได้เป็นเด็กจริง ๆ และถนอมธรรมชาติของวัยอย่างดีที่สุด ไม่ต้องเตรียมให้เค้าเป็นอะไรแต่ให้เค้าในสิ่งที่เหมาะสมกับเขาในวันนี้ไปทุก ๆ วัน
  • เมื่อเด็กมีปัญหาโต้แย้งกัน ควรปล่อยให้เขาได้แก้ปัญหาด้วยตัวเองกันเสียก่อนที่เราจะเข้าไปจัดการ เด็กต้องเรียนรู้อารมณ์ การจัดการกับความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน รับฟัง ต่อสู้ เมื่อเขารู้ตัวว่า “เขาไม่ไหว” เขาจะมาบอกเราเองแล้วเราค่อยเข้าไปช่วยดู
  • อย่าเลี้ยงลูกแบบ Overprotective (พะเน้าพะนอ ดูแล เป็นห่วง ปรนนิบัติมากจนเกินไป) เพราะจะปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำสิ่งที่เป็นทักษะชีวิตอีกมากมายทั้งที่เด็กมีฉันทะอย่างเต็มเปี่ยมที่จะทำ
  • ครูที่ดีเมื่อเด็กอยู่ใกล้แล้วรู้สึกอบอุ่นคือครูที่ไม่พูดมาก พร่ำเพรื่อ ขี้บ่น และมีกฎเยอะเกินไป เพียงแต่ปฏิบัติซ้ำ ๆ ตามกิจวัตรในโรงเรียนไปทุกวัน ๆ เด็กก็จะเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกิจวัตรเมื่อถึงเวลาที่รู้ว่าตนเองจะต้องทำอะไร

ปฐมวัยแห่งชีวิตคือรากแก้วของมนุษย์คนหนึ่ง ใช้เวลาในการสร้างรากแก้วที่หยั่งลึกอยู่นานแต่ถ้ารากแก้วนี้แข็งแรงก็จะนำพาต้นกล้าต้นนี้ให้เติบใหญ่แผ่กิ่งก้านออกใบ ออกดอกออกผลให้ร่มเงาเลี้ยงดูตัวเองได้ และมากกว่านั้นคือเป็นที่พึ่งให้กับผู้คนและสรรพสิ่งรอบข้าง

การสร้างเด็กปฐมวัยจึงใช้เวลาที่ยาวนานหลายปี วิธีการต้องถูกต้องตามธรรมชาติของวัยและการทำงานของสมองเด็ก ต้นไม้ที่มีอายุเท่ากันเมื่อมองจากภายในดูไม่แตกต่างกันนักแต่เชื่อเถอะว่าเมื่อกรีดข้างในดูจะรู้ว่ามันไม่เหมือนกัน เพราะต้นไม้หลายต้นเมื่อยังเป็นต้นกล้าถูกเร่งสี เร่งวุ้น ใส่ปุ๋ยเคมี ในขณะที่อีกต้นหนึ่งค่อย ๆ หยั่งรากลึกจากน้ำสะอาด แสงแดด และธาตุอาหารจากธรรมชาติ การเลี้ยงดูเด็กสักคนก็เหมือนต้นไม้ดูจากภายนอกก็เห็นเป็นเด็กเหมือนกันแต่ข้างในนั้นไม่เหมือนกันเพราะวิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันนั่นเอง

ด้วยรัก ครูปุ๊ก – ชลมาศ คูหารัตนากร ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบัน Play Academy