Economics

กฟผ.ประมูลพันธบัตรที่คลังไม่ค้ำประกันครั้งแรก 12,000 ล้านบาท

กฟผ. เตรียมเปิดประมูลพันธบัตรที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันครั้งแรกของรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 12,000 ล้านบาท ขายนักลงทุนที่มีบัญชีเงินฝากกับ ธปท. ผ่านระบบ e-Bidding  เตรียมออกล็อตแรก 4,000 ล้านบาทมิถุนายนนี้

1557220339282
วันนี้ (7 พ.ค.62) นายภัทรกฤช เตชะศิกานต์ รองผู้ว่าการการเงิน และบัญชี (CFO) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในการลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการออกจำหน่ายตราสารหนี้ของ กฟผ. โดยวิธีการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) และบันทึกความตกลงว่าด้วยการเป็นนายทะเบียน และตัวแทนการจ่ายเงินตราสารหนี้

โดยมี นายนรินทร์ กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่าย และหนี้สิน และนายเดช ฐิติวณิช ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมลงนาม โดยมีผู้บริหารจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ธปท. และผู้บริหาร กฟผ. เข้าร่วมงาน ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

1557220331480
ภัทรกฤช เตชะศิกานต์

นายภัทรกฤช กล่าวว่าจากการที่ กฟผ. มีแผนการลงทุนโครงการเพื่อรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพี ฉบับ 2018 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ซึ่งมีวงเงินลงทุนในช่วง 10 ปี ทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า รวมประมาณ 600,000 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ครม. ได้มีมติอนุมัติแผนการจัดหาเงินกู้ในประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2562 ของ กฟผ. วงเงินรวม 12,000 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนโครงการลงทุนนั้น

ทางกฟผ. ได้หารือร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน และรายละเอียด ต่าง ๆ ของการกู้เงิน ให้เป็นไปตามความเหมาะสม โดยได้พิจารณานำวิธีการประมูลพันธบัตรผ่าน e-Bidding ภายใต้ระบบการให้บริการด้านการเงิน ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (BOT Electronic Financial Services: BOT EFS) ของ ธปท. มาใช้ในการจัดหาเงินกู้

การที่กฟผ. เป็นหน่วยงานที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินโดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน กฟผ. จึงพร้อมเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกของประเทศไทย นำร่องในการประมูลพันธบัตร ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ผ่านระบบ e-Bidding ซึ่งจะทำให้สามารถขยายฐานผู้ลงทุน และเข้าถึงผู้ลงทุนหลากหลายกลุ่มได้โดยตรง

รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นทางด้านวงเงินกู้ และราคา ซึ่งจะสะท้อนออกมาจากอัตราผลตอบแทน ที่ผู้ลงทุนต้องการอย่างแท้จริง โดยไม่ผ่านตัวกลางการจัดจำหน่าย เป็นการเพิ่มความโปร่งใสในการประมูลพันธบัตรมากยิ่งขึ้น รวมทั้งลดขั้นตอน และระยะเวลาในการประมูลพันธบัตร นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน และยกระดับการดำเนินการจัดหาเงินกู้ของ กฟผ. ในรูปแบบสากล อีกด้วย

สำหรับการลงทุนของกฟผ.ปี 2562 กฟผ. มีแผนการออกพันธบัตร เพื่อเสนอขายแก่นักลงทุนสถาบัน ด้วยวิธีการประมูลผ่าน e-Bidding ในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท ตามที่ ครม. อนุมัติ เพื่อนำไปลงทุนโครงการ ดังต่อไปนี้

1.โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง ทดแทนเครื่องที่ 1 – 2
2. โครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่1
3.โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12
4. โครงการปรับปรุง และขยายระบบส่งไฟฟ้า ที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ระยะที่ 2
5. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตก และภาคใต้ เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า
6. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

โดยจะแบ่งการออกพันธบัตรเป็นจำนวน 3 ครั้ง ในวงเงินครั้งละ 4,000 ล้านบาท ออกพันธบัตรครั้งแรก ซึ่งเป็นพันธบัตรที่มีอายุ 10 ปี ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2562

Avatar photo