General

เกร็ดความรู้…เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2454

เรือสุพรรณหงส์4

หัวเรือพระที่นั่งนี้มีโขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่น ๆ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก จากองค์กรที่เรียกว่า World Ship Trust เมื่อพุทธศักราช 2535

เรือสุพรรณหงส์5

บุษบกเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นองค์เดิมที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร ซึ่งกรมศิลปากร ได้เชิญไปซ่อม ตกแต่ง ปิดทอง ประดับกระจก ณ สำนักช่างสิบหมู่ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และเชิญมาติดตั้ง ประดับตัวเรือ ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อเชิญเรือฯ ไปจอดบริเวณท่าราชวรดิฐ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม 2562 และจะถูกเชิญมาใช้อีกครั้งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดในช่วงเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562

เรือสุพรรณหงส์2

บุษบก คือ ซุ้มยอดซึ่งมีหลังคาซ้อนชั้นเป็นยอดแหลม มีบันแถลงประดับโดยรอบ ซึ่งความหมายของบันแถลงนี้มีอยู่ว่า เป็นการจำลองอาคารหนึ่ง ๆ ด้วยการนำส่วนที่เรียกว่าหน้าบันมาซ้อนชั้นกันขึ้นไป โดยมากซ้อนกันสามชั้น หมายความว่า การประดับด้วยบันแถลงนี้ เป็นการจำลองอาคาร สะท้อนความหมายของเรือนฐานานุศักดิ์ หรือเรือนฐานันดรสูงได้เช่นกัน บุษบกเป็นเครื่องใช้ประกอบกับของสูงและของสำคัญมีคุณค่าอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นบุษบกเล็กหรือบุษบกขนาดใหญ่ล้วนแล้วแต่ใช้ประกอบประดิษฐานของสูงของสำคัญทั้งสิ้น ดังที่ได้เห็นเช่นองค์พระแก้วมรกตก็ประดิษฐานในบุษบก พระพุทธสิหิงค์ก็ประดิษฐานในบุษบก สำหรับบุษบกขนาดใหญ่ก็จะเป็นที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์ เป็นงานที่ลงรักปิดด้วยทองคำเปลวแท้ ลงยาสีและประดับเพชรคริสตัลเพิ่มความสวยงามและมีคุณค่ายิ่งขึ้นไปอีก

เรือสุพรรณหงส์8

ในส่วนของพวงมาลัยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นพวงมาลัยสีขาวเหลืองทอง คล้องลำคอเรือให้มีความสง่างาม ซึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กองทัพเรือได้ให้โรงเรียนสตรีวัดระฆัง เป็นผู้จัดทำพวงมาลัยสำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งลำอื่น ๆ ในพระราชพิธีฯ จำนวน 10 พวง โดยพวงมาลัยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ประกอบด้วยส่วนที่ 1 ใช้ตาข่ายคลุมแกนพวงมาลัยดอกรักเทียม ทำลายสี่ก้านสี่ดอก ส่วนแกนใน ใช้ผ้าตาดสีเหลืองทอง ขณะที่ ส่วนที่ 2 พวงกลาง เป็นเครื่องแขวนไทย รูปโครงดาว ที่มุมทั้งหกมุม มีพวงดอกไม้รูปทรงกลม พวงเล็กหกพวง และทัดหูเป็นดอกสีแดง และสีเหลืองความสูง 28 นิ้ว

เรือสุพรรณหงส์3เรือสุพรรณหงส์6เรือสุพรรณหงส์1

ข้อมูลจากและภาพจาก เว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, กองทัพเรือ และ phralan.in.th

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK