Politics

ชี้ ม.44 อุ้ม 3 ค่ายมือถือ ‘ข้ามขั้นตอน-เสี่ยงทุจริต-เอื้อประโยชน์เอกชน’

ทีดีอาร์ไอประสานเสียงองค์กรคอร์รัปชั่น และองค์กรเพื่อผู้บริโภค ชี้รัฐบาลออกมาตรา 44 อุ้ม 3 ค่ายมือถือ ปิดกั้นการแข่งขัน ยกผลประโยชน์นับหมื่นล้านให้เอกชน แถมยังเสี่ยงต่อการทุจริตสูง เหตุให้อำนาจเลขาธิการกสทช.ไว้มหาศาล

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวบนเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง “ม.44 อุ้มมือถือ: ใครได้ใครเสีย และใครเสียท่า?” ว่า  การยืดหนี้ 4 จี เท่ากับเป็นการยกผลประโยชน์นับหมื่นล้านบาทให้กับผู้ประกอบการ เมื่อพิจารณาจากมูลหนี้ที่ค้างของ เอไอเอส ทรู และดีแทค และการใช้มาตรา 44 ยืดเวลาชำระหนี้ให้ โดยไม่คิดดอกเบี้ย

สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ e1555668879152

การที่ กสทช. บอกว่าไม่ได้ทำให้รัฐได้เงินน้อยลงยังได้เงินเท่าเดิม เพราะไม่เอาดอกเบี้ยมาคิด แต่ถ้าเอามาคิด จะเห็นว่าเงินรัฐหายไป  ส่วนเอกชนกลับมีเงินงอกขึ้นมา เช่น ทรู 8,780 ล้านบาท เอไอเอส 8,380 ล้านบาท และ ดีแทค 2,580 ล้านบาท ซึ่งทั้งสามรายรวมเงินทั้งสิ้น 19,747 ล้านบาท

“ใกล้เคียงกับข้อมูลนักวิเคราะห์จากหลายสำนัก เช่น บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย คำนวณได้ 18,456-28,393 ล้านบาท เท่ากับรัฐบาลยกผลประโยชน์เกือบสองหมื่นล้านบาทให้กับเอกชน” ดร.สมเกียรติ ระบุ

ส่วนที่บอกว่าเป็นการบังคับทำ 5จี นั้น มองว่าไม่ใช่ แต่เป็นการให้อภิสิทธิ 3 ค่ายทำต่อโดยไม่ต้องแข่งขันกับใคร หรือกึ่งผูกขาด เนื่องจากไม่มีรายใหม่เข้ามาแข่งขัน  และการที่ กสทช. บอกว่าค่าคลื่นประมูลต่อราย 2.5 หมื่นล้านบาท ก็ไม่ได้เป็นมูลค่าที่สูงมาก แต่เป็นมูลค่าในอนาคต

ฉะนั้นไม่ได้แปลว่ารัฐได้เงินปีนี้ แต่เป็นอีก 10 ปี ถ้าเป็นเงิน 17,167 ล้านบาท เอกชนจะซื้อคลื่น 5จีในราคาที่ถูกมาก ขณะเดียวกัน จะเห็นว่ามีผลในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมทั้ง 3 ราย เพราะแม้จะเป็นการแข่งขันผูกขาด แต่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมีความได้เปรียบเสียเปรียบ โดยเฉพาะทรูจะซื้อได้ในราคาถูกสุด ส่วนดีแทคต้องซื้อในราคาแพง

นอกจากนี้ แม้ว่าผู้ประกอบการจะชำระจริงๆ ตามที่กล่าวมา แต่เมื่อถึงเวลาก็ยังสามารถต่อรองกันได้อีก เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจเลขาธิการกสทช.ไว้มาก หากมีการขยายเวลาประกอบกิจการเป็น 15-20 ปี ก็เหมือนเป็นการให้เช็คเปล่า และผู้ได้ประโยชน์มากสุดตามมาตรา 44 คือ อภิมหาเศรษฐี และนักลงทุนต่างประเทศ เช่น ตระกูลเจียรวนนท์ และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ  นักลงทุนชาวจีน และสิงคโปร์ ในกรณีเอไอเอส และนักลงทุนนอร์เวย์ในกรณีของดีแทค

“คำถามอยู่ที่ว่า ทำไมรัฐต้องไปอุ้มผู้ประกอบการ 3 รายนี้ ที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง แม้จะมีการขาดทุนทางธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และยิ่งเป็นธุรกิจใหญ่ ที่ยังไปได้ดีมีกำไร ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลที่รัฐจำเป็นต้องเข้าไปอุ้ม”

ขณะเดียวกัน บริการ 5 จี ถือเป็นเรื่องของอนาคตไม่ต้องรีบทำวันนี้ ซึ่งผู้บริหารเอไอเอสเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แม้จะมีความพร้อมจริงแต่ก็ไม่รีบ  เพราะเอามาให้บริการในวันนี้ก็ยังไม่มีคนใช้ และ 4จี ก็ยังไม่คืนทุน ด้วยเหตุนี้ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมา

ดร.สมเกียรติบอกด้วยว่า การที่เลขาธิการกสทช. ระบุว่ามีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นเพียงแค่ความฝันสำหรับการบริการในอนาคต ต้องรอถึงปี 2578 ถึงจะเกิดผล เพราะยังไม่มีใครทำอุปกรณ์มารองรับคลื่น 700 MHz  ทั้งในปัจจุบันก็มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ที่เปิดให้บริการ 5จีในเชิงพาณิชย์ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐ ซึ่งประเทศเหล่านี้ ล้วนเป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์ 5 จี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาเคลื่อนไหวอะไรในขณะนี้

logo

ส่วนเรื่องการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 นั้น ดร.สมเกียรติวิจารณ์ว่า เป็นเรื่องที่ขาดความรับผิดชอบ ซึ่งในกรณีปกติถ้าหน่วยงานรัฐไปลดเงินให้กับเอกชนเพื่อยืดเวลาชำระหนี้ คงหนีไม่พ้นโดนดำเนินคดีอาญา ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำให้กสทช. และเลขาธิการกสทช. พ้นผิดทางอาญาได้  คือการใช้มาตรา 44  ที่ประชาชนฟ้องศาลไม่ได้ ส่วนทางการเมืองพรรคที่เกี่ยวกับคสช. ก็ไม่ถูกคู่แข่งโจมตี  ทั้งยังอาศัยวันที่ 11 เมษายน ก่อนวันหยุดยาวเพื่อประกาศใช้คำสั่งดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น การที่คสช. ให้อำนาจเป็นวงกว้างกับเลขาธิการกสทช. ซึ่งเป็นบุคคลเดี่ยว ไม่ใช่องค์กร และยังไม่มีข้อกำหนดที่เป็นหลักการมากำกับไว้ ถือเป็นเรื่องข้ามขั้นตอน และหละหลวมอย่างมาก  ทั้งยังเสี่ยงอย่างมาก ที่จะทำให้เกิดการทุจริตขึ้นมา ทั้งเมื่อปีที่แล้ว คสช. ยังมีการออกมาตรา 44  ให้ระงับการสรรหากสทช. ไว้ ทำให้กสทช.ชุดนี้ สามารถดำรงตำแหน่งไปตลอดชีวิต เว้นแต่เกษียณตามกฎหมาย

ประธานทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า เรื่องนี้ผู้เสียหาย คือ ประเทศและประชาชน เพราะประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี เป็นเจ้าหนี้ทางอ้อมของผู้ประกอบการ และการที่รัฐมายืดหนี้ เป็นสิ่งต้องตั้งคำถาม เนื่องจากเสียโอกาสบริการ  5จี แต่เมื่อเปลี่ยนควรให้รายใหม่เข้ามาแข่งขันด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรา 44 มีผลทำให้การกำกับดูแลโทรคมนาคมย้อนกลับไปในระบบสัมปทาน ที่มีการวิ่งเต้น จนนำมาสู่ธนกิจการเมือง ซึ่งปัญหานี้ส่งสัญญาณให้กับต่างประเทศ ว่าประเทศไทยยังห่างไกลจากความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ใช่เพราะรายได้ต่อหัวยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่เป็นเพราะรัฐไทยมีปัญหาธรรมาภิบาลบกพร่องร้ายแรง

มานะ e1555669020900

ทางด้าน ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ กล่าวว่า อยากให้ดูว่าเรื่องนี้ไม่ปกติ เพราะการที่กรรมการไปใส่ใจต่อธุรกิจใหญ่มากเกินไป จะทำให้เรื่องนี้สร้างปัญหาระยะยาวต่อส่วนรวม ซึ่งต้องไม่ลืมว่าเจ้าของรายได้ตัวจริง คือ ประชาชน ไม่ใช่กรรมการ  โดยการรักษาประโยชน์แผ่นดิน ถือเป็นความคาดหวังที่เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงรัฐบาล ในฐานะผู้กินเงินเดือน กินงบประมาณ ต้องทำในสิ่งถูกต้อง ไม่ยอมถูกครอบงำ หรือเอื้อประโยชน์ให้ใคร

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า เอไอเอส ทำกำไรมา 4 ปี ปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท จากยอดที่คิดรวมกันที่ 129,578 ล้านบาท และในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา บริษัทจ่ายปันผล 9,800 ล้านบท  ทั้งยังไม่มีการให้ข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือประชาชนว่า มีปัญหาทางการเงิน โดยตั้งแต่ปี 2558-2561 เอไอเอสมีรายได้เพิ่ม 9.38%

ส่วนทรูก็มีกำไรสะสม 4 ปี 10,954 ล้านบาท กำไรสูงสุดในปี 2561 อยู่ที่ 57,117 ล้านบาท จ่ายเงินปันผลรวม 4 ปี 5,677 ล้านบาท และยังมีการเพิ่มทุนในปี 2559 เพื่อการลงทุน 4จี จำนวน 61,426 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง และการทำธุรกิจที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง โดยมีรายได้รวมตั้งแต่ปี 2558-2561 เพิ่มขึ้น 36%

ขณะที่ดีแทค กำไรสะสม 4 ปี 5,725 ล้านบาท จ่ายปันผล 4 ปี รวม 7,575 ล้านบาท แต่บริษัทไม่เคยให้ข้อมูลกับตลาดหรืประชาชนว่าไม่สามารถจ่ายเงินได้

ดร.มานะ บอกว่า อยากให้มีการติดตามกันต่อไปว่าแต่ละบริษัทจะยื่นใช้สิทธิเหล่านี้หรือไม่ เพราะหากอ่านคำสั่ง คสช. มาตรา 44 แล้ว จะเห็นว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเอกชนให้อยู่ได้ในการประกอบธุรกิจ ในการชำระค่าธรรมเนียม และที่ต้องช่วยเพื่อจูงใจผู้ประกอบการให้เข้าประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz แต่ตอนท้ายกลับให้อำนาจเลขาธิการ กสทช. กลายเป็นว่าไม่ได้เป็นการประมูล

หากมองในแง่ชาวบ้านแล้ว  เวลากู้เงินจากธนาคารรัฐ หรือเอกชน เพื่อซื้อบ้าน รถ หรือทำการค้า ต้องมีดอกเบี้ย ซึ่งสูงพอสมควร แต่ในกรณีนี้ ทำไมต้องช่วย 3 บริษัท หรือไม่มีทางเลือกอื่น  ทั้งที่คนไทย และนักลงทุนทั่วโลกย่อมเข้าใจว่าถ้า 3 บริษัทนี้เลิกไป ก็จะมีบริษัทใหม่ๆ เข้ามาลงทุนแน่นอน ดังนั้น ประเทศต้องยืนด้วยระบบกฎหมาย และต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด

ดร.มานะ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีเรื่องการแก้ไขสัญญาหรือสัมปทาน เพื่อลดค่าสัมปทานในเรื่องเงื่อนไขรายการ เช่น กรณีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการประมูลสัมปทาน แต่รัฐบาลยก 50 ปีให้กับรายปัจจุบัน แต่ครั้งนี้เป็นการแก้ไขสัญญา แสดงให้เห็นว่า รัฐบาล คสช. กสทช. และเลขาธิการกสทช. กำลังไม่เคารพ หรือทำลายความศักดิ์สิทธิของกติกา และสัญญาที่รัฐทำไว้กับเอกชน เป็นการยืนหลบอยู่ข้างหลังมาตรา 44

ทั้งนี้ เชื่อว่าสังคมอยากเห็นการบริหารประโยชน์ชาติอย่างโปร่งใส ไม่ใช่การอ้างกฎหมาย หรือออกกฎหมายเพื่อมาตีความ และทุกฝ่ายกลัวเรื่องอภินิหารกฎหมาย

ถ้าหากมีการประวิงเวลาเรื่องนี้เอาไว้ก่อน เพื่อรอรัฐบาลจากการเลือกตั้งให้มาดำเนินการ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะดูมีความชัดเจน และโปร่งใสมากขึ้น ทั้งยังจะได้รับการยอมรับทั้งจากคนไทย และนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น เพราะถือว่ามีกลไกตรวจสอบของรัฐสภา

สารี e1555669132855

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่ง คสช. เป็นการรอนสิทธิประชาชนชัดเจน อีกทั้ง ยังเป็นการเอื้อให้บริษัทโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล โดยไม่มีประเด็นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค แถมยังผลักภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมาไว้กับผู้บริโภคอีก

ทั้งนี้การไม่ประมูลคลื่น ซึ่งหายไปตามมาตรา 44 เหมือนเป็นการแจกหรือทำให้ราคาถูกลง โดยไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขัน ทำให้บริษัทเหล่านี้เหมือนได้โชค 4 ชั้น ได้ขยายเวลาจาก 5 ปีเป็น 10 ปี  ผ่อนชำระหนี้แบบปลอดดอกเบี้ยจาก 5 ปี เป็น 10 ปี ได้คลื่น 5 จี ราคาถูก โดยไม่ต้องประมูลแข่งขัน และปิดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม

น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า กสทช. เปรียบเป็นเสือกระดาษ เพราะอำนาจไปอยู่กับสำนักงานเลขาธิการทั้งหมด ซึ่งเมื่อการตรวจสอบถ่วงดุลน้อยลง ก็อาจเกิดข้อครหาขึ้นได้  ดังนั้น เรื่องนี้ควรรอรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนมาดำเนินการ  ไม่ควรให้เกิดในรัฐบาลนี้ ถือเป็นเรื่องรับไม่ได้

อย่างไรก็ตาม 5 จี เป็นความหวังล้มๆแล้งๆ เพราะยังไม่มีโครงข่ายรองรับ เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า และจะหวังอะไรกับรถไม่มีคนขับ บางประเทศ 5จี ไม่ได้ทำคลื่นเดียวกับไทย และประเทศไทยต้องซื้อ แต่ยังไม่มีอุปกรณ์ขาย ดังนั้น  5 จี ควรมีหลังปี  2563 น่าจะสมเหตุผลมากกว่า ทำให้การออกมาตรา 44 ในเรื่องนี้ เป็นการเอื้อต่อนายทุนเอกชน และปิดปากสื่อ

บุญยืน e1555669289531

ส่วน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า  เลขาธิการกสทช. ต้องไปตรวจสอบด้วยว่า  การยืดเวลาชำระหนี้โดยไม่มีดอก ประเทศได้ประโยชน์จริงหรือ พร้อมยกตัวอย่างว่า แม้เกษตรกรจะมีการพักชำระหนี้ แต่ยังต้องเสียดอกเบี้ย แต่คลื่นความถี่ไม่ใช่ของรัฐ เป็นสมบัติของชาติ และประชาชนทุกคน ดังนั้น จึงไม่เข้าใจทำไมนายกรัฐมนตรีต้องช่วย มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight