Economics

ผลิตมหาบัณฑิต ‘Sci-Fi’ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม

ในห้องเรียนสมัยใหม่ ภาพครูอาจารย์พูด และนักเรียนจด คงจะมีให้เห็นน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะข้อมูลที่หลั่งไหลในอินเทอร์เน็ต ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย การเรียนการสอนแบบเดิมไม่ได้ตอบโจทย์ยุคสมัย และความต้องการของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

ตอนนี้ ครูอาจารย์ปรับเป็นผู้ชี้แนะ และสร้างกิจกรรมให้นักเรียน ได้นำความรู้ที่มีไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มากกว่านั่งกอดตำรา หากที่ไหนเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ได้เงินเดือนด้วย การันตรีจบแล้วมีประสิทธิภาพ พร้อมทำงานในสถานประกอบการได้ทันที กำลังเป็นเทรนด์ของการเรียนการสอนในศตวรรษนี้

IMG 20190419 102551

โครงการ “วิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry : Sci-Fi) เกิดขึ้น เพื่อตอบยุคสมัย เป็นโครงการที่รับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ เรียนต่อในระดับปริญญาโท กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานที่เรียนหลัก คือสถานประกอบการต่างๆ เป็นเวลา 2 ปี แถมมีตำแหน่งให้ในระดับผู้ช่วยวิศวกร ผู้ช่วยหัวหน้างาน หรือผู้ช่วยหัวหน้าแผนก ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทจากสถานประกอบการนั้นๆ มีโครงงานวิจัยเป็นผลงานตามหลักเกณฑ์การเรียนปริญญาโท ที่เชื่อมโยงกับสถานประกอบการ ขณะที่คณาจารย์ก็มาร่วมให้คำปรึกษา และแนะนำด้วย

วันนี้ (19 เม.ย.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ โครงการ Sci-Fi ” เพื่อคิกออฟโครงการนี้

IMG 20190419 095950

ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ เลขาธิการ สวทน. ระบุว่า วิทยาศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรม แต่ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่สามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะตรงความต้องการได้ในทันทีหลังสำเร็จการศึกษา

ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีปัญหาขาดแคลนกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะบุคลากรระดับกลาง (Middle Manager/Engineer) ที่ต้องการผู้ที่มีความรู้ทั้งด้านกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม และบริหารจัดการเทคโนโลยี ทำให้ยากต่อการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการ

ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็มีแนวคิด และทัศนคติในการทำงานที่แตกต่างจากเดิม มองหาโอกาส และความท้าทายมากขึ้น ทำให้การทำงานแบบเดิมที่เป็นการแยกส่วน ไม่เห็นความเชื่อมโยงทั้งกระบวนการ และใช้เวลานานในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ เกิดการเปลี่ยนงานในระยะเวลา 1-2 ปีแรกสูง ทำให้สถานประกอบการมีต้นทุนในการพัฒนากำลังคนสูงขึ้น

เหล่านี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมทำงานทันทีในสถานประกอบการโดยไม่ต้องรอให้เรียนจบ โครงการ Sci-Fi จึงเข้ามาตอบโจทย์ เพราะนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโทจะเรียนรู้จากการทำงานในสถานประกอบการนั้นเลย

ขณะเดียวกันอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสเข้าไปดูว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการอย่างไร นำไปสู่การประสานเชื่อมโยงการพัฒนานวัตกรรมระหว่างสถาบันการศึกษากับบริษัทเอกชน

ปัจจุบันมี 6 บริษัทที่มีการประสานเชื่อมโยง ได้แก่ บริษัทบางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) บริษัทอาหารเสริม จำกัด บริษัท สิทธินันท์ จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัทโรงงานกระดาษเทนมา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แฟคเกอร์ จำกัด แต่ละปีรับนิสิตนักศึกษารุ่นละ 50 คน รุ่นแรก 12 คนนำร่อง และนอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว จะจับมือกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ อีกหลายแห่ง

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.ย้ำว่า โครงการนี้สร้างจะสร้างผลกระทบได้กว่า 7-8 เท่า และนอกจาก 6 บริษัทแล้วมีบริษัทเอกชนจำนวนมาก ที่พร้อมเข้ามาร่วมโครงการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการนวัตกรรมสูงมาก รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ (S Curve) นิสิตนักศึกษาจบมาแล้วมีโอกาสได้งานทำเลยสูงมาก

IMG 20190419 105330
ชินนทัต สินประเสริฐโชค

สอดคล้องกับกระแสตอบรับของบริษัทเอกชน ดร.ชินนทัต สินประเสริฐโชค ผู้ช่วยผู้จัดการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทอาหารเสริม จำกัด ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า การเดินไปสู่ Zero Landfill เป็นเป้าหมายใหญ่ในการดำเนินธุรกิจของเครือ เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และสนับสนุน Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน หมายถึงไม่มีของเสียทิ้งออกจากกระบวนการผลิตอีกต่อไป แต่นำผลพลอยได้ทุกอย่างมาทำให้เกิดประโยชน์

ดังนั้นผลพลอยได้จากทุกๆธุรกิจของบริษัทกำลังถูกนำมากลับมาใช้งานใหม่ เช่น การนำกากเบียร์ นำไปทำอาหารเสริมให้กับสัตว์ ขี้เถ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้าที่นำมาผลิตเป็นอิฐปูทางเท้า และวัสดุมวลเบาสำหรับทำผนัง ลดปริมาณขยะ ขณะเดียวกันก็ลดการระเบิดภูเขา เป็นต้น

แต่การนำไปทำประโยชน์นั้น จะต้องผ่านการศึกษาวิจัยมาอย่างดี เพื่อทำให้สิ่งที่ผลิตออกมานำไปใช้ได้ และขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเริ่มจากการใช้งานของบริษัทในเครือก่อน

“การนำนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโท ที่เข้ามาทำงานที่สถานประกอบการ ทำให้เรามีบุคลากรมาช่วยพัฒนานวัตกรรมให้ออกมาได้จริง และเร็วขึ้น สามารถลดการแบ่งเบางานของบุคลากรบริษัทได้”

ขณะที่สถาบ้นการศึกษาที่ต้องทำหน้าที่ผลิตมหาบัณฑิตนำร่องตามโครงการ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีคู่แข่งรอบด้าน และคู่แข่งก็เก่งขึ้นมาก ความแข็งแกร่งเชิงเปรียบเทียบของไทยกำลังถดถอยลงแล้ว

สิ่งที่ต้องช่วยกันทำ มี 3 ส่วน ประกอบด้วย ต้องทำอะไรที่ตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ ผลิตได้เร็วและทันเวลา ทันเหตุการณ์ และต้องสร้างผลกระทบ ( Impact )

ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ปรับตัวไปมาก เพราะทราบดีว่าการสอนหนังสือแบบเดิมถูกลดความสำคัญลงไป การเรียนรู้มีความสำคัญมากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยจึงทำทั้งการให้ความรู้พื้นฐาน และการฝึกให้นิสิตคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการทำงานได้ ที่ผ่านมาจึงทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรของประเทศ และนำงานวิจัยต่างๆมาสร้างประโยชน์ได้จริง

Avatar photo