Business

สั่งแบนโฆษณาอาหารเสริมช่อง ‘สปริงส์นิวส์-เนชั่นทีวี’

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

อย. และกสทช. ชี้พบแนวโน้มดีขึ้นหลังตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ อย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. เป็นต้นมา โดยในช่วงวันที่ 16 – 18 พฤษภาคมนั้น สำหรับทีวีดิจิทัลพบว่ามีเพียงสองช่องคือช่องสปริงนิวส์ และช่องเนชั่น ที่ได้เข้าไปทำการปิดกั้นเนื่องจากออกอากาศผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ วิทยุ เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และเว็บไซต์ว่า หลังจากวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา กสทช.ได้ทำการปิดกั้นสถานีและเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาผิดกฎหมายแล้ว (15-18 พฤษภาคม) โดยเป็นทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ สปริงนิวส์และเนชั่นทีวี โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เผยแพร่เนื้อหาผิดกฎหมาย 2 ผลิตภัณฑ์

ช่องทีวีดาวเทียม 18 ช่อง 13 รายการ เว็บไซต์ 20 ยูอาร์แอล (URL) ส่วนสถานีวิทยุที่โฆษณาผิดกฎหมายยังไม่มี ทั้งนี้พบว่าการเผยแพร่เนื้อหาทางสถานีโทรทัศน์มีแนวโน้มลดลงแต่ไปปรากฏในสื่อออนไลน์มากขึ้น

นายสมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า โฆษณาที่ตรวจพบเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเป็นยารักษาโรค ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดสาระสำคัญตัวผลิตภัณฑ์

ส่วนโฆษณาเครื่องสำอางเป็นการเผยแพร่เนื้อหารายการทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์เช่น ผลิตภัณฑ์ที่บริโภคแล้วสามารถทำให้ผิวขาวได้ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทำให้ผมหยุดขาดร่วงได้

อย่างไรก็ดี อย. และกสทช. พบแนวโน้มดีขึ้นหลังตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ อย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. เป็นต้นมา

ในช่วงวันที่ 16 – 18 พฤษภาคมนั้น สำหรับทีวีดิจิทัลพบว่ามีเพียงสองช่องคือช่องสปริงนิวส์ และช่องเนชั่น ที่ได้เข้าไปทำการปิดกั้นเนื่องจากออกอากาศผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย

ช่องสปริงนิวส์ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เรียลอัลฟ่า คลอโรฟิลล์ และช่องเนชั่นทีวี เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชาริส ส่วนช่องโทรทัศน์ดาวเทียม/เคเบิลทีวี พบว่า มีการเผยแพร่โฆษณาที่ผิดกฎหมายทั้งหมด 18 ช่อง รวม 13 ผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการโฆษณาในฝั่งเว็บไซต์มีจำนวนเพิ่มขึ้น 20 URL ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่ามีผลกับโครงสร้างของร่างกาย การเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเพื่อการรักษาโรค

กระนั้นในการแถลงข่าววันนี้ ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อของผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏอยู่ในทั้ง 20 URL แต่อย่างใด

กสทช.ยังชี้ด้วยว่า สำหรับช่องทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม วิทยุ ที่เคยถูกตรวจสอบไปแล้ว ทาง กสทช. จะมีการกลับไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่องว่ามีการนำเสนอโฆษณาที่ผิดกฎหมายอีกหรือไม่ และหากพบว่ามี ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไปด้วย

ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยด้วยว่าในบรรดา URL ที่ตรวจสอบพบว่ากระทำผิดกฎหมายนั้น 90% เป็นสินค้าในหมวดอาหาร

“เชื่อว่า อย. และกสทช. ทำงานร่วมกันในลักษณะนี้จะทำให้โฆษณาบนออนไลน์ที่ผิดกฎหมายลดลง และเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งคาดว่าภาพรวมจะดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยตอนนี้จะแถลงข่าวทุกวันจันทร์ แต่ถ้าผ่านไปสักระยะแล้วภาพรวมดีขึ้น การแถลงข่าวอาจจะลดลงเหลือประมาณเดือนละ 1 ครั้งก็ได้” นายฐากรกล่าว

ตั้งแต่วันที่ 4 – 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา กสทช. และอย. ได้มีการระงับช่องทีวีดิจิทัล 7 ช่อง 13  ผลิตภัณฑ์, ทีวีดาวเทียม 25 รายการ 22 ผลิตภัณฑ์ และวิทยุ 1 รายการ 1 ผลิตภัณฑ์ ในส่วนของการปิดกั้นเว็บไซต์พบว่าได้ทำการปิดกั้นไปแล้ว 10 URL

Add Friend

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight