Startup

‘เคเคเดย์’ ผู้ช่วยออกแบบ ‘ท่องเที่ยว’ ด้วยตัวเอง

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก สายการบินราคาประหยัด และเว็บไซต์อย่าง เอ็กซ์พีเดีย และบุ๊คกิ้ง ดอท คอม ส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม เช่นเดียวกับแอร์บีแอนด์บี และบริการแบ่งปันบ้านเช่าอื่นๆ ที่ทำให้โรงแรมต้องสูญเม็ดเงินไปจำนวนมาก

lost tourism 752113 960 720 1

แต่บริษัทเหล่านี้ ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของคำตอบในการเดินทางท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือ จะทำอะไรดี เมื่อเหล่านักเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางของตัวเองแล้ว

“เคเคเดย์” (KKday) คือทางเลือกสำหรับปัญหาดังกล่าว โดยสตาร์ทอัพไต้หวันรายนี้ กำลังมองหาทางที่จะโค่นผู้เล่นรายใหญ่ในเกมใหม่นี้ ด้วยแอพพลิเคชัน ที่เชื่อมต่อนักท่องเที่ยวเข้ากับกิจกรรมท้องถิ่นหลายพันประเภท ไม่ว่าจะเป็นการเรียนสกีในเกาหลีใต้ หรือว่ายน้ำกับฉลามวาฬ ในฟิลิปปินส์

ความโดดเด่นของบริการเคเคเดย์ ยังอยู่ตรงที่ว่า นักท่องเที่ยว ที่ไม่ชอบการวางแผนล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนๆ สามารถจองการเข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางแอพพลิเคชัน ภายในคืนก่อนหน้าวันที่ต้องการจะไปทำกิจกรรมนั้นๆ

ซุย เชยิน ชายหนุ่มวัย 32 ปี จากไต้หวัน เลือกโปรแกรมทัวร์ของเคเคเดย์ สำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นเพียงลำพังเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเขาบอกว่า เขาตรวจสอบกับเคเคเดย์ หลังจากที่เดินทางมาถึงจุดหมายแล้ว เพื่อดูแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ในแบบที่เรียกได้ว่า แทบจะเป็นนาทีสุดท้ายกันเลยทีเดียว

ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งเคเคเดย์ “เฉิน หมิง” วัน 45 ปี ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อปลายปี 2558 เพื่อรองรับความต้องการของคนยุคมิลเลนเนียล อย่าง ซุย

“ความเฟื่องฟูของอินเทอร์เน็ต สร้างโอกาสให้กับนักเดินทางรายย่อย ที่จะออกแบบรายละเอียดการเดินทางของตัวเอง”

เขาบอกด้วยว่า ขณะนี้ ยังไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ ที่จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ แม้ว่าพวกเขาต้องการที่จะได้รับประสบการณ์อันพิเศษก็ตาม ซึ่งเฉินย้ำว่า บริษัทของเขาต้องการแก้ไขปัญหายุ่งยากทุกอย่างสำหรับนักเดินทาง

chen
เฉิน หมิง

ในการทำธุรกิจนี้ เฉินพุ่งเป้าที่ตลาดเอเชียเป็นหลัก ด้วยจำนวนการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนการเดินทางท่องเที่ยวแบบอิสระเพิ่มขึ้นตามไปเช่นกัน โดยมีเกาหลีใต้ และฮ่องกง เป็นตลาดอันดับต้นๆ ของบริษัท ที่ปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ในต่างประเทศ 11 แห่ง รวมถึงที่ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน

อย่างไรก็ดี เคเคเดย์ ก็ยังเป็นเหมือนสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ ที่ตกอยู่ในภาวะขาดทุน แม้บริษัทจะยืนยันว่า เริ่มทำกำไรได้บ้างแล้วในไต้หว้น และฮ่องกง  ซึ่งแม้บริษัทปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายได้ รวมถึงจำนวนผู้ใช้บริการ แต่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประเมินว่า น่าจะมีผู้ลงทะเบียนใช้แอพพลิเคชันเคเคเดย์อยู่ราว 1.5 ล้านคน

ไม่เพียงแต่นักเดินทางที่ให้ความสนใจกับสตาร์ทอัพท่องเที่ยวรายนี้เท่านั้น เหล่านักลงทุนก็ไม่พลาดที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจมาแรงนี้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เคเคเดย์ระดมทุนได้ 10.5 ล้านดอลลาร์ จากเอช.ไอ.เอส. เอเยนซีท่องเที่ยวญี่ปุ่น และนักลงทุนรายอื่นๆ ทั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน บริษัทยังได้รับเงินลงทุนจำนวนหนึ่งจากไลน์ เวนเจอร์ หน่วยงานด้านการลงทุนของไลน์ ผู้ให้บริการแอพสนทนาชื่อดังจากญี่ปุ่น และกองทุนอาลีบาบา อองเทรอพรีเนอร์ส ฟันด์ จากจีน

เฉินตั้งเป้าที่จะทำให้เคเคเดย์กลายเป็น “บริษัทท่องเที่ยวอันดับ 1 ของเอเชีย” และเชื่อว่า เขาสามารถทำได้ ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่มีคุณค่าอย่างมาก จากบรรดาผู้ให้บริการท่องเที่ยว และผู้ให้บริการกิจกรรมต่างๆ รายเล็กๆ ในท้องถิ่น ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ ล้วนแต่เพิ่งย่างเท้าเข้าสู่โลกดิจิทัลทั้งนั้น

ที่มา: Nikkei Asian Review 

Avatar photo