Finance

คาดกำไรแบงก์ไตรมาสแรกพุ่งเกิน 5 หมื่นล้านบาท

ในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกปี จะถึงเวลาของเทศกาลการรายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสแรก และในปี 2562 โบรกเกอร์ได้คาดการณ์ว่า กำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะรายงานกำไรมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นระดับทรงตัว เมื่อเทียบกังวดเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 4/2561 โดยปัจจัยที่มีผลกระทบเกิดจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง ขณะที่การปล่อยสินเชื่อชะลอตัว รวมทั้งคาดว่าแบงก์ใหญ่จะเริ่มบันทึกการสำรองเรื่องผลประโยชน์พนักงานเกษียณอายุเข้ามาทำให้กดดันผลการดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าระดับการตั้งสำรองในส่วนนี้ประมาณ 3 – 4 พันล้านบาท หรือมีผลกระทบกับกำไรกลุ่มประมาณ 8%

บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า กำไรปกติของกลุ่มแบงก์ไม่แย่นัก แม้สินเชื่อไตรมาสแรกปีนี้จะทรงๆ ถึงชะลอเล็กน้อย แต่คาดกำไรสุทธิทำได้ 5.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากงวดไตรมาส 4/2561 จากการลดลงของรายจ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และสำรองฯ แต่ลดลง 1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง โดยแบงก์ KTB คาดมีกำไรโตดีสุด คาดเพิ่มขึ้น 18% จากไตรมาส 4/2561 และเพิ่มขึ้น 7% จากงวดเดียวกันปีก่อน ยังไม่รวมกำไรขายที่ดิน ส่วนแบงก์ KBANK คาดเพิ่มขึ้น 56% ไตรมาส 4/2561 และเพิ่มขึ้น 2% จากงวดเดียวกันปีก่อน

คาดแบงก์กำไรไตรมาสแรกเติบโตมากสุด 01

ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลทางบัญชีเรื่องผลประโยชน์พนักงานที่อาจกระทบกำไรกลุ่มราว 8% หรือ 3 – 4 พันล้านบาท อาจมีแบงก์ SCB, BAY, TMB, KBANK และ TISCO ที่บันทึกในไตรมาสนี้ ฝ่ายวิจัยยังเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) หุ้นกลุ่มแบงก์บนสมมติฐานการลงทุนและสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังของปีนี้ หลังจัดตั้งรัฐบาล

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า ฝ่ายวิจัยได้คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” เนื่องจาก 4 เหตุผลที่มีมุมมอง “เป็นกลาง” ต่อแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/2562 ของกลุ่มธนาคาร ประกอบด้วย การคาดกำไรกลุ่มฯ ทรงตัวจากงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะค่าใช้จ่ายตั้งสำรองที่ลดลง ถูกชดเชยด้วยผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียม แต่คาดกำไรไตรมาส 4/2561 โตเด่น เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหดตัวตามฤดูกาล ซึ่งคาดว่า BAY, BBL, KKP และ KTB จะรายงานกำไรเติบโตทั้งงวดเดียวกันปีก่อน และไตรมาส 4/2561

รวมถึงการที่ ธปท. รายงาน NPL ของกลุ่มธนาคารดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจาก Gross NPL เติบโตในอัตราชะลอลง และ Total NPL formation หดตัวจากปีก่อนหน้า  อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังคงคำแนะนำ “เท่ากับตลาด” เพราะภาพรวมกลุ่มฯ ขาดปัจจัยบวกที่ชัดเจน พร้อมกับเลือก BBL และ KKP เป็นหุ้นเด่น

ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิ ไตรมาส 1/2562 กลุ่มธนาคารที่ 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากงวดเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 26.8% จากไตรมาส 4/2561 ซึ่งกำไร เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 เติบโตเด่นเพราะปัจจัยบวกจาก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Opex) ปรับตัวลงตามฤดูกาล  และ BAY มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นบริษัทเงินติดล้อ อย่างไรก็ตามคาดกำไรทำได้เพียงทรงตัว จากงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก ผลบวกจากค่าใช้จ่ายตั้งสำรองที่ลดลง

ด้านสินเชื่อคาดขยายตัว เพิ่มขึ้น 5.5% จากงวดเดียวกันปีก่อน มาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อรายย่อยได้อานิสงส์จากการเร่งโอนสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการคุม LTV ของ ธปท. ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ชะลอตัวด้วยปัจจัยฤดูกาลชำระคืนหนี้

“เราคาดธนาคารที่กำไรเติบทั้งงวดเดียวกันปีก่อน และไตรมาส 4/2561  ได้แก่ BAY เพิ่มขึ้น 47.3% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 49.9% จากไตรมาส 4/2561, BBL เพิ่มขึ้น 3.9% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 15.5% จากงวดไตรมาส 4/2561, KKP เพิ่มขึ้น 5.6%จากงวดเดียวกันปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาส 4/2561 และ KTB เพิ่มขึ้น 5.4%จากงวดเดียวกันปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 16.2% ไตรมาส 4/2561  หนุนจากการตั้งสำรองลดลง และฐานสินเชื่อขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารที่คาดรายงานกำไรหดตัวจากงวดเดียวกันปีก่อน ได้แก่ TMB ลดลง 26.3% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ ลดลง 1.2% ไตรมาส 4/2561 เพราะลูกค้า TMB Global income ไหลออกอย่างต่อเนื่อง และสำรอง Employee benefit 500 ล้านบาท, TCAP ลดลง 7.2% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ ลดลง 12.7%จากไตรมาส4/2561  เพราะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษี และค่าธรรมเนียมอ่อนแอ, ส่วน KBANK ลดลง 12% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่ เพิ่มขึ้น 34.8% จากไตรมาส 4/2561 และ SCB ลดลง 7.3%จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่ เพิ่มขึ้น 48.7%จากไตรมาส 4/2561 เป็นผลจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมออนไลน์

จากรายงานของ ธปท. ต่อประเด็น NPL ในกลุ่มธนาคาร พบว่าปัญหาหนี้เสียเริ่มผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอด Gross NPL เติบโตในอัตราชะลอลงเหลือ 3% จากปีก่อนในไตรมาส 4/2561 สอดคล้องกับอัตราการเกิด NPL (Total NPL formation) หดตัวจาก 0.65% ในไตรมาส 4/2560 เป็น 0.60% ในไตรมาส 4/2561 ตามการลดลงของอัตราการกลับมาเป็น NPL ของลูกหนี้ปรับโครงสร้าง (Reverse NPL) ขณะที่อัตราการเกิด NPL ใหม่ (New NPL formation) ทรงตัว เป็นผลให้ NPL ratio ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 2.91% ณ สิ้นปี 2561 เป็น 2.93% ณ สิ้นปี 2562

สำหรับแผนรุกสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูง ผ่าน Digital lending ของธนาคารขนาดใหญ่อย่าง SCB และ KBANK เป็นประเด็นที่ต้องจับตา หากอัตราการเกิดหนี้เสียเร่งตัวขึ้น อาจเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการกำไรปี 2562

ฝ่ายวิจัยได้คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” แต่ภาพรวมกลุ่มฯ ขาดปัจจัยบวกที่ชัดเจน รวมถึงมีปัจจัยที่ต้องจับตาทั้งผลกระทบจากมาตรการ LTV ที่จะเริ่มบังคับใช้ 1 เมษายน 2562 ค่าธรรมเนียมและธุรกิจประกันที่ยังอ่อนแอ รวมถึงการตั้งสำรอง Employee benefit และการลงทุน IT ของธนาคารขนาดใหญ่อย่าง KTB ตั้งงบที่ 1.9 หมื่นล้านบาท

ฝ่ายวิจัยเลือก BBL และ KKP เป็นหุ้นเด่นโดย BBL มีความน่าสนใจจาก ปลอดภาระค่าใช้จ่าย Employee benefit  ผลกระทบจำกัดจากการยกเว้นค่าธรรมเนียม เพราะฐานลูกค้าหลักเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วน คุณภาพสินทรัพย์แกร่ง ด้วย Coverage ratio สูงสุดในกลุ่ม และราคาหุ้นซื้อขายเทียบกับมูลค่าตามบัญชี (PBV) ที่ 0.96 เท่า (ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี)

ด้าน KKP มีปัจจัยบวกคือคาดสินเชื่อปี 2562 ขยายตัวเด่นถึง 8% จากปีก่อน มากกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 5% จากปีก่อน ซึ่งมีรายได้ค่าธรรมเนียม IB ที่ยังไม่ถูกรวมไว้ในประมาณการ และอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเด่น

สำหรับ TCAP และ SCB ในปี 2562 อาจบันทึกกำไรพิเศษก้อนใหญ่ปลายปี จากการขาย TBANK และ SCB-life ตามลำดับ ทั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าดังกล่าวได้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight