Economics

กระตุ้นตลาด !! กฟผ.เปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า 23 จุดให้ประชาชนใช้ฟรี 1 ปี

กฟผ.กระตุ้นตลาดรถไฟฟ้า เปิดสถานีชาร์จ 23 สถานี ให้บริการประชาชนฟรี 1 ปี เริ่ม 1 เมษายนนี้ พร้อมระดมมินิบัสไฟฟ้า 11 คัน ใช้งานในองค์กรมากที่สุดของประเทศ สนับสนุนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดค่าฝุ่นละออง

55698

วันนี้ (28 มี.ค.) นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. เห็นถึงความสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคต สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกกไซด์ (CO2 ) จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง รวมทั้งลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ และฝุ่นละออง (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงมีแผนผลักดันแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสนองนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

เมื่อปี 2561 กฟผ. ได้เริ่มใช้งานรถมินิบัสไฟฟ้า จำนวน 1 คัน เพื่อรับส่งพนักงาน และประชาชน ที่มาศึกษาดูงาน และร่วมกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง และปัจจุบัน กฟผ. ได้เช่ารถมินิบัสไฟฟ้าเพิ่มอีก จำนวน 10 คัน ซึ่งได้รับมอบเรียบร้อยแล้ว เท่ากับกฟผ. จะมีรถมินิบัสไฟฟ้าทั้งหมด จำนวน 11 คัน ใช้งานรับ-ส่งพนักงาน กฟผ. และประชาชนที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่สำนักงาน โรงไฟฟ้า เขต เขื่อน และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

รวมถึงโรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานกลาง กฟผ. และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จังหวัดนนทบุรี

55696

ทั้งนี้ การใช้งานรถมินิบัสไฟฟ้าทดแทนการใช้งานรถมินิบัส ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง สามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลได้ประมาณ 485 กรัม CO2 ต่อ กม. และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้เฉลี่ยประมาณ 2.3 บาทต่อกม. รวมทั้งลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ และฝุ่นละออง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย

พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน 8 พื้นที่ดังกล่าว แบ่งออกเป็น สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา จำนวน 11 สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว จำนวน 12 สถานี ซึ่งประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สามารถเข้าร่วมโครงการนำร่องใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 62

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://goo.gl/forms/H00cGJXBg4oiKBsj1  ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562  ซึ่งกฟผ. จะดำเนินการเก็บข้อมูล การใช้งานในโครงการฯ เพื่อนำมาศึกษาแนวทางการพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพขั้นสูงของสถานีอัดประจุไฟฟ้า และเตรียมดำเนินการเพื่อติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ต่อไป

55705

นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยวิจัยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) ซึ่งมีรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง พร้อมกับชุด kit ที่มีราคาประหยัด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 62 โดยเน้นการใช้ชิ้นส่วน ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ

ทั้งยังร่วมมือกับ กฟน. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  สวทช. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. จำนวน 4 คัน เป็นรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ ด้วยการดัดแปลงเครื่องยนต์ จากเชื้อเพลิงน้ำมันให้กลายเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 62

55709

จากนั้นจะขยายผลไปสู่การให้บริการประชาชนต่อไปในอนาคต และในปีนี้ประชาชนจะได้พบกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่ง กฟผ. ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อกำหนดมาตรฐาน และเกณฑ์ประสิทธิภาพเบอร์ 5 ตั้งเป้าว่าจะเริ่มติดฉลากเบอร์ 5 จักรยานยนต์ไฟฟ้า ภายในเดือนกันยายน 62

“กฟผ. ในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านการผลิต และด้านระบบส่งไฟฟ้าไว้อย่างรัดกุม โดยจะประสาน กฟภ. และ กฟน. ให้ช่วยเตรียมระบบไฟฟ้าในพื้นที่ รองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน” นายวิบูลย์ ระบุ

Avatar photo