Economics

ขึ้นรูป ‘นครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์’ ต่อยอด Bioeconomy แห่งแรกของไทย

วันนี้ (27 มี.ค.) มีพิธีลงนามสัญญาเงินกู้เพื่อการก่อสร้างโครงการ “นครสวรรค ไบโอคอมเพล็กซ์”  ระหว่างกลุ่มบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม GGC  กลุ่มบริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการกลุ่ม GGC และ นายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการกลุ่ม KTIS เป็นประธานในพิธีฯ และ นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

IMG 20190327 093105

นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ GGC กล่าวว่า หลังจากศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนก่อสร้างโครงการ  “ นครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ ” (Nakhon Sawan Biocomplex) หรือ NBC ร่วมกับ KTIS มาระยะหนึ่ง คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้ลงทุนก่อสร้าง NBC แล้ว โดยได้จัดตั้งบริษัท จีจีซี ไบโอเคมิคอล จำกัด (GGC Bio ) ซึ่ง GGC ถือหุ้น 100 % เพื่อร่วมทุนกับกลุ่ม KTIS ใช้เงินลงทุนก่อสร้างประมาณ 7,500 ล้านบาท เป็นเงินทุนจากการกู้ 5,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากเงินทุนของกลุ่ม GGC และกลุ่ม KTIS

NBC ถือเป็นไบโอคอมเพล็กซ์ และ ไบโอ ฮับ แห่งแรกของไทย ซึ่งจะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ สามารถเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤษภาคม 2562 และดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 64

นายเสกสรร  กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 เป็นโครงการก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังผลิต 24,000 ตันต่อวัน โครงการก่อสร้างโรงผลิตเอทานอล กำลังผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน หรือประมาณ 186 ล้านลิตรต่อปี และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการลงทุนต่อยอดการผลิตเคมีภัณฑ์ และพลาสติกชีวภาพในระยะที่ 2 ด้วย

สำหรับโครงการ ระยะที่ 2  ได้มีการศึกษาด้านเทคนิค  ( Cellulosic Technology  ) ร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา เช่น เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐ ก็เป็นรายหนึ่ง  เพื่อ นำชานอ้อยมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ หรือ วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ยา พลาสติกย่อยสลายได้ เป็นต้น

IMG 20190327 093731
เสกสรร อาตมางกูร

การก่อสร้างโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์การดำเนินโครงการ เพื่อการเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Growth Strategy ของบริษัทฯ สอดรับกับนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ของภาครัฐ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในด้านเศรษฐกิจ ช่วยสร้างงานให้เกษตรกรในพื้นที่ สร้างงานจากโรงงานเอทานอลได้มากกว่า 400 คน สร้างรายได้จากอ้อย สร้างพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 240,000 ไร่ ทดแทนพื้นที่ปลูกข้าว ลดปริมาณการใช้น้ำได้  30%

ด้านสังคม ได้มีการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ แก่คนในพื้นที่จากการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ ลดการย้ายถิ่นฐาน ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น การสร้างโรงงานเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์  ระยะที่  1 ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดการปล่อยน้ำเสีย รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว ช่วยลดฝุ่นควัน และมลพิษจากการเผาอ้อยที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงาน สามารถตัดอ้อยได้ 300-400 ตันต่อวัน และมีการรับซื้อเศษวัสดุต่างๆด้วย เช่น ใบอ้อยจากเกษตรกรสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมของโครงการ พร้อมส่งเสริมการใช้ใบอ้อยที่มีสารอาหารไปทำปุ๋ยด้วย

ทางด้านนายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท KTIS กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เป็นการรวมจุดแข็งของ 2 กลุ่ม คือ  KTIS ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอ้อย และ GGC ที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม

อ้อยที่จะนำมาหีบ เพื่อส่งน้ำอ้อยเข้าสู่โรงงานเอทานอล จะแยกจากอ้อยที่นำส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS มีพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่คู่สัญญาเพิ่มขึ้น 240,000 ไร่ คาดว่าจะผลิตอ้อยได้ 2.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งเฟสแรกของนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จะเป็นการก่อสร้างโรงงาน 3 โรง ได้แก่ โรงหีบอ้อย กำลังผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงผลิตเอทานอล 600,000 ลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า  กำลังผลิตติดตั้ง 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง สำหรับแหล่งเงินทุนของโครงการนี้จะมาจากเงินทุนของผู้ถือหุ้นฝ่ายละไม่เกิน 1,300 ล้านบาท รวมเป็น 2,600 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศ

สำหรับโครงการระยะ 1 นั้น ปริมาณเอทานอล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก จะขายให้กับผู้ผลิตน้ำมัน เช่น ปตท. บางจาก เชลล์ เพื่อนำเป็นส่วนผสมในแก๊สโซฮอล์  ส่วนส่วนระยะ 2 ที่จะมีการลงทุนเพิ่มเติมอีก 10,000-30,000 ล้านบาทนั้น จะนำเอทานอลที่ได้จากระยะ 1 ไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าในธุรกิจชีวภาพและหรือพลาสติกชีวภาพต่อไป

Avatar photo