Politics

‘ฝั่งประชาธิปไตย’ เดินเกมดึง ‘ปชป.’ เสริมทีม

เกมการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล กำลังร้อนแรงขึ้นมาทุกขณะ เป็นการชิงไหวชิงพริบแบบนาทีต่อนาที ชั่วโมงต่อชั่วโมงของ 2 พรรคใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ ในการรวบรวมคะแนนเสียง และรวบรวมพรรคการเมือง เข้ามาจับขั้วตั้งรัฐบาล  ทั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่ได้ประกาศผลคะแนนเลือกตั้งส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ กันอย่าง ดุเด็ดเผ็ดมัน

ในทางการเมืองเรียกว่าเป็นเกมการ ชิงไหว ชิงพริบ การจะดึงพรรคไหนเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้มองเพียงแค่ตัวเลขมากน้อยอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญการที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะดึงพรรคไหนเข้าร่วม ยังคงต้องมีองค์ประกอบมากมาย ประกอบด้วย

  • จำนวนที่นั่งรวมของส.ส.แต่ละพรรค
  • ข้อเสนอของแต่ละพรรค
  • การแบ่งสรรปันส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงใหญ่ๆ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ
  • การแบ่งสรรปันส่วนเก้าอี้ประธานกรรมาธิการคณะต่างๆ
  • เก้าอี้ประธานรัฐสภา
  • บทบาทของแต่ละพรรคในรัฐบาล
  • การยอมรับของว่าที่นายกรัฐมนตรี
  • คำมั่นสัญญาของพรรคร่วม

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเงื่อนไขข้อต่อรองขั้นพื้นฐาน ในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคการเมือง หากพรรคแกนนำสามารถจัดการให้เรื่องเหล่านี้เกิดความเป็นธรรมได้ทุกฝ่าย การจัดตั้งรัฐบาลก็จะทำได้ไม่ยาก แต่หากพรรคแกนนำยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน หรือพวกพ้องภายในพรรค การจะดึงพรรคร่วมเข้าเสริมทีมไม่ง่ายนัก

mapเลือกตั้ง 2222222 01

ฉะนั้นการฟอร์มทีมพรรคการเมืองตั้งรัฐบาล ท่ามกลางที่มีคะแนนไม่ทิ้งห่างกันมากของพรรคแกนนำ และคะแนนของพรรคร่วมที่ยังเป็นเบี้ยหัวแตก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการอะไรได้ภายในพริบตา ยิ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิสดารอยู่ไม่น้อย อะไรก็ดูเหมือนยากทีเดียว

สำหรับพรรคร่วมที่แต่ละฝ่ายจะดึงเข้ามานั้น จะเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ดูเหมือนมีความสำคัญกับการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ทีเดียว แต่ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดเล็กหรือพรรคขนาดกลาง คงไม่มีพรรคไหนยอมที่จะให้พรรคแกนนำใช้เป็น “พรรคอะไหล่” จัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคขนาดใหญ่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะทุกพรรคที่เข้าร่วมเรียกว่า มีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสัดส่วนเก้าอี้รัฐมนตรี  ต้องคำนวณตามสัดส่วนของส.ส.ที่มีอยู่ในมือ

หากพรรคขนาดใหญ่ใช้ ความมีอภิสิทธิ์ เลือกแต่สิ่งดีไป โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ กับกับพวกพ้องตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงพรรคร่วม สุดท้ายอาจจะลงเอย แบบพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังกระทำอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยเวลานี้ หากเป็นอย่างนี้ ผู้จัดการรัฐบาลจะไม่ได้รับความร่วมมือแน่นอน สุดท้ายมีแต่ “คนเมินหนี”

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ตราบใดที่ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” ยังไม่เข้าใจกระบวนการจัดสรร อย่าหวังว่าจะเกิดความสำเร็จ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ ที่ยังเป็นข้อเคลือบแคลงใจกับการบริหารประเทศช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ยังเป็นจุดอ่อนอยู่กับทีมเศรษฐกิจเดิม

ที่สำคัญแต่ละพรรคการเมืองเมื่อครั้งหาเสียง ต่างก็หยิบยกปัญหาเศรษฐกิจขึ้นมา บอกกล่าวประชาชน และอาสาที่จะเข้ามาแก้ปัญหา เมื่อได้เป็นรัฐบาล ดังนั้นหากทีมเศรษฐกิจแบบเดิมๆ คงไม่ใช่คำตอบของแต่ละพรรคที่จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล

สูตรตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย2 01

สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่ชิงประกาศจับขั้ว 6 พรรคการเมือง ประกาศจัดตั้งรัฐบาลไปแล้ว ด้วยคะแนนเบื้องต้น 255 ที่นั่ง ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการปิดประตูตาย แต่เพื่อไทยยังคงเปิดกว้างที่จะรับพรรคการเมืองเข้าไปอยู่ในฝั่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” จะไม่มีการใช้คำว่าฝั่ง “เพื่อไทย” ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทาบทามพรรคขนาดกลางอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

เรียกว่าสถานการณ์ตอนนี้มีเงื่อนไข และข้อต่อรองกันหนักทีเดียว สิ่งหนึ่งที่ฝั่ง “ประชาธิปไตย” กำลังต้องการสร้างความมั่นใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์นั่นคือ ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจเข้าร่วม อาจจะมีการแถลงการณ์จาก นายทักษิณ ชินวัตร ออกมา ที่จะต้องประกาศตัวเองให้ชัดเจนว่าจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพรรคประชาธิปัตย์จะได้ตัดสินใจได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคนในพรรคประชาธิปัตย์ยังมีความเชื่อว่านายทักษิณ จะเข้ามายุ่งเกี่ยว อันนี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่กำลังเจรจาเพื่อดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม ฝั่ง“ประชาธิปไตย”

หากสูตรนี้สำเร็จ ฝั่ง“ประชาธิปไตย”ก็อาจจะได้ที่นั่งเพิ่ม แต่แน่นอนพรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจจะเกิดกระบวนการ“งูเห่า” ขึ้นได้ ที่จะหันไปลงคะแนนให้กับพรรคพลังประชารัฐ

“ตอนนี้ผู้จัดการตั้งรัฐบาล 2 ฝั่ง เดินเกมหนักกับข้อต่อรองและข้อเสนอของแต่ละพรรค เพื่อที่จะรวบรวมคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด ในสถานการณ์ตอนนี้บอกได้เลย เรายังคงต้องเกาะติด และติดตามสูตรการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในสถานการณ์อย่างนี้”  

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight