COLUMNISTS

ประชานิยม ดี ต่อประชาธิปไตย ?

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
2546

พรรคการเมืองทุกพรรค  ชูนโยบายประชานิยมหาเสียง เรียกคะแนนกันถ้วนหน้าไม่ว่า พรรคอนุรักษ์นิยม  พรรคโนมินี  พรรคเฉพาะกิจ  พรรคนิยมซ้าย  ฯลฯ  โดยสาระแทบไม่ได้แตกต่างกันเลย  อาทิ พวกเขาสัญญาว่าจะดูแล(ลูกของคุณ) ตั้งแต่เกิดจนถึงแก่เฒ่า  เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลถึง ปวส. ปรับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ  แก้หนี้ทั้งระบบ    ฯลฯ

ประชาธิปัตย์4262

ความแตกต่างสิ่งเดียวเมื่อเปรียบเทียบนโยบายระหว่างพรรค คือ ออพชัน เช่น ประชาธิปัตย์ (ปชป.)  บอกว่าเกิดปุ๊บ (ลูกคุณ) รับเป็นแสนถ้าเลือกเรา  พลังประชารัฐ (พปชร.) เกทับว่า  เราดูแลลูกคุณตั้งแต่ฝากครรภ์นะ  ปชป. บอกจะประกันราคาข้าวเปลือกไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเกวียน พี่น้องชาวนาไม่ต้องห่วง   

 พปชร.เกทับทันควันว่า จะให้ราคาข้าวเปลือกเจ้า 12,000 บาทต่อเกวียน  เท่าที่ เพื่อไทย( พท.) หาเสียงเอาไว้ แต่จะให้ราคายางพารา 65 บาทต่อกก. (สูงกว่า พท.)  

ด้านค่าแรงขั้นต่ำ พท.บอกกับพี่น้องแรงงานว่า ถ้าเลือก ดิฉัน” จะปรับค่าแรงขึ้นต่ำขึ้นอีก แต่พปชร. กลบคำหาเสียงดังกล่าว ด้วยการระบุตัวเลขให้เห็นจะๆเลยว่ารับไปเลย 420 บาทต่อวัน ทำเอาภาคเอกชแตกฮือร้องค้านกันระงม

การที่พรรคการเมืองชูนโยบายประชานิยมหาเสียงกันอย่างเข้มข้น นอกจากเป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นว่า  ดีกรีการแข่งขันทางการเมืองรอบนี้รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา  และยังเกิดคำถามตามมาอีกว่า  จะเอางบประมาณจากไหน พ่วงประเด็นชวนให้คิดอีกด้วยว่า นโยบายประชานิยมนั้นไม่ใช่เรื่องต้องห้ามเช่นที่เคยเชื่อ หรือมองกันเช่นนั้นแล้วใช่หรือไม่

ยุครัฐบาลทักษิณ นำชุดนโยบายประชานิยมที่ พรรคไทยรักไทยตอนนั้น (เพื่อไทยตอนนี้) ใช้หาเสียงมาขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ไม่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค  กองทุนหมู่บ้าน พักหนี้ มีเสียงค้านจากนักวิชาการ โดยเฉพาะซีกนักเศรษฐศาสตร์  ที่ออกมาค้านนโยบายประชานิยม ถึงขนาดตั้งกลุ่มคนรู้ทันทักษิณ เขียนบทความชี้ให้เห็น ข้อเสียของนโยบายที่มุ่งใช้เงินสร้างคะแนนนิยมหวังผลระยะสั้น จะสร้างหายนะระยะยาวให้ประเทศ

พลังประชารัฐ

ธีรยุทธ บุญมี  นักวิจารณ์สังคมชี้ว่า “…นโยบายประชานิยมยุคทักษิณ เป็นการเปลี่ยนชาวบ้านให้เป็นผู้บริโภค  ซึ่งไม่ต่างจากความรุนแรงอย่างเงียบๆ ที่ระบบทุนนิยมเสรีทำต่อชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ ยังอยู่ในวิธีถีแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ชาวบ้าน นักบริโภคนิยม และทุนติดลบมากขึ้น “

ตอนนั้นเองที่คนไทยรู้จัก ประชานิยม และ รับรู้เรื่องราวความวิบัติทางเศรษฐกิจจากประเทศย่านลาตินอเมริกา ที่นำนโยบายประชานิยมโดย มาสร้างความนิยมในหมู่ประชาชน  โดยเฉพาะอาร์เจนตินา ยุคฮวน เปโรน ที่ดำเนินนโยบายประชานิยมจนประเทศล้มละลาย  และนโยบายประชานิยม ถูกมองเหมือนของต้องห้าม และเป็นยาพิษต่อระบบประชาธิปไตย

หลังการรัฐประหารในปี 2549  ประชานิยม เงียบไปพักใหญ่ แต่ทันทีที่มีการเลือกตั้ง ประชานิยม ก็ปรากฏตัว และทวีเข้มข้นมากยิ่งขึ้น 

 การเลือกตั้งใน ปี 2554 พรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ รัฐบาลยิงลักษณ์ ผลักดันนโยบายประชานิยมแบบเต็มสูบ โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ราคา 16,000 บาทต่อเกวียนสูงกว่าราคาตลาด

โครงการรับจำนำข้าวฯ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกต่อต้านจากนักวิชาการโดยพร้อมเพรียงกัน เพราะเป็นการบิดเบือนตลาดข้าวครั้งใหญ่ที่สุด และส่งผลเสียทั้งกระบวนการผลิต การตลาดข้าว ลามไปถึงงบประมาณของรัฐ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมีการดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวจำนวนมาก รวมทั้งอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่หนีศาลไปก่อนถึงวันพิพากษา

พรรคเพื่อไทย4262

เมื่อรัฐบาล คสช.ตั้งต้นใหม่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ และหัวหน้า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)  โละโครงการรับจำนำข้าวฯ และนโยบายประชานิยมทิ้งทั้งหมด แต่ ปีให้หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ผลักดัน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ออกมาเพื่ออุดหนุนค่าครองชีพกับ ผู้มีรายต่ำกว่าหรือสูงกว่าเส้นความยากจนเล็กน้อย

มีเสียงวิจารณ์ว่าแบบนี้เป็นนโยบายประชานิยมนี่   แต่พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯยืนกรานด้วยเหตุผลตามสไตล์ว่า ไม่ใช่  เพราะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น  มอบให้กับบุคคลที่สำรวจแล้วพบว่า อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือ ไม่ใช่หว่านๆ ไปทั่วแบบประชานิยม ฟังดูเหมือนนายกฯ กำลังบอก ว่า ได้มีการถอนพิษ(สำรวจเจาะจงให้แก่บุคคลที่สมควรได้รับการอุดหนุนจริง) แล้ว

ส่วน พปชร. ที่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ  และเดินหน้าหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมต่อเนื่องและเข้มข้น  ยืนยันว่า (ถ้าได้เป็นรัฐบาลอีก) จะขยายจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการประชารัฐออกไปอีกจาก 14 ล้านคนโดยประมาณในปัจจุบันและจะเติมสิทธิ์ให้อีกด้วย

ถ้าจะสรุปจากสภาพการเมือง ณ เวลานี้ ประชานิยมคงไม่ใช่ของต้องห้ามอีกต่อไปแล้ว พรรคการเมืองทุกพรรคไม่ได้คิด นโยบายที่สัญญาว่าจะให้ เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้มีสิทธิออกเสียง ให้กลายเป็นผู้บริโภคแต่ประการใด หากเป็นการดูแล ผู้คนในสังคมที่ปัญหาเหลื่อมล้ำชุกชุม ด้วย ความห่วงใยของผู้อาสามาทำงานการเมืองเพื่อดูแลทุกๆท่าน

การนำนโยบายประชานิยมมาหาเสียงกันอย่างอึกทึกของพรรคการเมือง อีกทั้งใช้นโยบายราคาเพิ่มประโยชน์เพื่อ ชิงคะแนน เสียงจากพรรคคู่แข่ง  สื่อความตรงๆว่า ประชานิยมนั้นเปลี่ยนไป  จากนโยบายต้องห้าม กลายเป็นสิ่งที่ดีต่อประชาธิปไตยไปแล้ว