Wellness

10 เมนูหน้าร้อน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ

เตือน 10 เมนู ควรระวังในช่วงหน้าร้อน เสี่ยงป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ เหตุอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อาหารบูดเสียง่าย แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หากอาหารมีกลิ่นผิดปกติ ไม่ควรรับประทาน

หน้าร้อนอย่างนี้ อาหารหลายๆเมนูบูดเสียง่าย หากเสียดาย ฝืนกิน มีหวังเสี่ยงนอนโรงพยาบาล เหตุอาหารเป็นพิษ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข จึงออกประกาศให้ประชาชนสังเกตอาหารที่บริโภค หากมีรูปร่างลักษณะ และ กลิ่น ผิดปกติ ต้อง “ทิ้ง” ทันที

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แสดงให้เห็นว่า ช่วงวันที่ 1 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2562  มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษแล้วถึง 17,651 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด อายุ 15–24 ปี รองลงมา อายุ 25–34 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ตามมา ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี ตราด ลำพูน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ตามลำดับ

DSC 5470
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดี และโฆษก กรมควบคุมโรค ระบุว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี และอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วย ด้วยโรคติดต่อทางอาหาร และน้ำ โดยเฉพาะ “โรคอาหารเป็นพิษ” ในช่วงนี้จึงขอแนะนำ ให้ประชาชนระมัดระวังการรับประทานอาหาร และน้ำดื่มเป็นพิเศษ

โดยโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจาก กินอาหาร หรือดื่มน้ำ ที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิฯ ที่มากับอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารไม่สะอาด และอาหารที่ปรุงไว้นาน ไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อน  เพราะ อากาศที่ร้อน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี และเพิ่มมากขึ้น

สำหรับเมนูอาหาร ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ประกอบด้วย

  • ลาบ/ก้อยดิบ
  • ยำกุ้งเต้น
  • ยำหอยแครง/ยำทะเล
  • ข้าวผัดโรยเนื้อปู
  • อาหาร หรือ ขนม ที่มีส่วนประกอบของกะทิสด
  • ขนมจีน
  • ข้าวมันไก่
  • ส้มตำ
  • สลัดผัก ที่มีธัญพืช
  • น้ำแข็ง ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน

060362 99

โดยเมนูอาหารเหล่านี้ ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุง โดยวิธีลวก หรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยก กับข้าวออกจากข้าว และต้องรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมง หลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน

สำหรับการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยให้ปฏิบัติดังนี้

1.รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน

2. อาหารไม่มีแมลงวันตอม

3.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่ ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังเตรียมอาหาร และหลังขับถ่าย

ทั้งนี้ให้ประชาชนสังเกตอาการ “อาหารเป็นพิษ” หลังรับประทานอาหาร  จะมีอาการ พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องแบบบิดเกร็ง เป็นพักๆ ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า และอาจมีไข้ร่วมด้วย เป็นต้น การช่วยเหลือเบื้องต้น ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์  และสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Avatar photo