Economics

ปตท.สผ. ตั้ง ‘Transfer Team’ 70 คน ทุ่ม 1 ล้านล้านลงทุนเอราวัณ-บงกช

ปตท.สผ.ต้้งทีม 70 คนปฏิบัติการเปลี่ยนถ่ายแหล่งสัมปทานเอราวัณจากเชฟรอนในช่วง 3 ปี พร้อมวางเม็ดเงิน 1 ล้านล้านลงทุนสองแปลงสัมปทาน เตรียมดึงพันธมิตรร่วมหุ้นเพิ่ม ลดความเสี่ยง 

IMG 20190225 140542

ภายหลังบริษัทปตท.สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต สำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียม G1/61 แหล่งเอราวัณ และ G2/61 แหล่งบงกช ที่กระทรวงพลังงาน ผู้บริหารปตท.สผ.ได้เปิดแถลงข่าวถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแหล่ง

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า หลังจากได้รับทราบเป็นผู้ชนะประมูลทั้งสองแหล่งแล้ว บริษัทเตรียมทีมกว่า 70 คน สำหรับการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนถ่ายในแหล่งเอราวัณจากกลุ่มเชฟรอนในช่วง 3 ปีก่อนหมดอายุสัมปทานในปี 2565 รวมถึงทำแผนงานรองรับ เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ จึงต้องมีการเตรียมการอย่างรัดกุมรอบคอบ โดยพร้อมจะยื่นแผนงานการดำเนินการทั้งสองแหล่งต่อกระทรวงพลังงานภายใน 45 วันตามกำหนด

ในช่วง 10 ปีนี้ ปตท.สผ.จะต้องใช้วงเงินในการพัฒนาทั้งสองแหล่งรวม 1 ล้านล้านบาท เป็นแหล่งบงกช 3-4 แสนล้าน และแหล่งเอราวัณ 6-7 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้มั่นใจได้ว่าบริษัทฯมีความพร้อมในเรื่องเงินลงทุน ขณะเดียวกันก็มีรายได้เพียงพอที่จะหมุนเวียนนำมาลงทุนได้  ไม่ต้องหาแหล่งเงินกู้ ประกอบกับปัจจุบันมีกระแสเงินสดพอสมควร ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ โดยในช่วงต้นของการลงทุนทั้งสองแหล่ง น่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ส่วนเมื่อลงไปทำงานลงลึกจะเห็นรายละเอียดที่ต้องลงทุนเพิ่มเติม

สำหรับราคาประมูลครั้งนี้ หลายคนมองว่าประมูลราคาต่ำ เสนอขายก๊าซธรรมชาติในราคา 116 บาทต่อล้านบีทียูนั้น นายพงศธร ย้ำว่า อย่าไปมองที่ราคาอย่่างเดียว และราคาก็ไม่ได้ตายตัวที่ 116 บาทปรับขึ้นลงเล็กน้อยตามปัจจัยต่างๆ โดยขอให้มองในภาพรวมทั้งหมด

“บริษัทมีเป้าหมายการประมูลครั้งนี้ และตั้งใจประมูลในราคาที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อคนไทย และประเทศไทย และดูแลผู้ถือหุ้นไปพร้อมกัน ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนที่มีส่วนได้เสียกับเราอย่างยุติธรรม “ 

นายพงศธร อธิบายต่อว่า  สำหรับผลที่จะกลับมาที่บริษัทนั้น การประมูลทั้งสองจะได้ความคุ้มทุนจากขนาด สามารถบริหารจัดการต้นทุนให้ลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 20-25% แต่แน่นอนว่ากำไรต่อยูนิตอาจลดลงจากปัจจุบัน แต่กำไรภาพรวมของบริษัทไม่ต่ำกว่าเดิมแน่นอน เพียงแต่เราต้องทำงานหนักมากขึ้น จาก 1 แหล่งเป็น 2 แหล่ง และหาทางเพิ่มกำลังผลิต

อย่างไรก็ตามเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต ปตท.สผ.จะพิจารณาหาผู้ร่วมทุนเพิ่มเติม ทั้งเอราวัณ และบงกช จากปัจจุบัน ในส่วนของแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ จับมือกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทย่อยของ มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) ในเครือ Mubadala Investment Company จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ สัดส่วน 60/40 % ส่วนบงกช ปตท.สผ.ลงทุน 100% โดยส่วนตัวเห็นว่าอย่างน้อยแต่ละแหล่งควรมีพันธมิตร 3 กลุ่ม จึงจะสมดุล ช่วยลดข้อขัดแย้งได้ และประสานความคิดได้ง่ายขึ้นกว่าการมีเพียง 2 บริษัท

บงกช 1

โดยหลังจากปี 2565 ที่สองแปลงหมดอายุสัมปทานลง ต้องรอไปอีก 1 ปี ถึงจะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงสัดส่วนโครงสร้าง   การถือหุ้นได้ ส่วนจะเปิดให้พันธมิตรรายใหม่เข้ามาในสัดส่วนเท่าใดนั้น ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด และเรื่องนี้จะต้องหารือในคณะกรรมการบริษัทด้วย

“การที่เราไม่มีพันธมิตรตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เราไม่หา แต่มีการถอนตัวออกไป  ก็เลยเหลือแต่เรา แต่เห็นว่าเมื่อเราดำเนินการไประยะหนึ่ง พันธมิตรจะมั่นใจเอง และมาร่วมกับเราในภายหลัง เพราะมั่นใจว่าปตท.สผ.เป็นบริษัทที่ใครๆก็อยากร่วมงานด้วย ทั้งพนักงาน คู่ค้า ชุมชน และรัฐบาล เพราะไม่ได้ตั้งเป้าหมายกำไรสูงสุดเสมอไป ตราบใดที่เราบริหารจัดการได้ มีความสมดุลในการบริหารจัดการ เชื่อว่าจะสร้างผลกำไรดีกว่า และไทยก็เป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุน ไม่เฉพาะปิโตรเลียม หลายประเทศสนใจ เพราะไทยมีความมั่นคง มีตลาด เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค  “

ที่กล่าวอย่างนั้น นายพงศธร มองว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจไม่เหมือนเดิม จะหากำไรมากที่สุดไม่ได้  ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างพันธมิตร อย่างกลุ่มบริษัทเชฟรอน และกลุ่มมิตซุย ปตท.สผ.ก็คุ้นเคย และเป็นหนึ่งในบริษัทเป้าหมายที่จะพูดคุยด้วยในอนาคต  นายพงศธร ย้ำว่า การลงทุนสำรวจและผลิต ต้องการคนคุ้นเคย หากเป็นนักลงทุนที่ไม่คุ้นเคย ก็จะมองว่าใช้เงินสูง และเสี่ยงสูง แต่บางบริษัทก็อยากลงทุนกับเรา เพราะเขามองเห็นว่าจะเป็นหลักประกันความเสี่ยงได้ จากผลิตภัณฑ์สารตั้งต้นที่ผลิตได้สามารถต่อ ยอดไปยังธุรกิจปิโตรเคมี เป็นต้น

และสำหรับปตท.สผ.เองแล้ว เรามั่นใจว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากทั้งสองแหล่ง มีตลาดรองรับภายในประเทศอย่างแน่นอน และก๊าซฯผ่านท่อ จะได้เปรียบกว่า เพราะผู้ซื้อสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)ที่บางช่วงมีแรงเหวี่ยง

ในส่วนของพนักงานเชฟรอนในฐานะผู้รับสัมปทานรายเดิมนั้น  ปตท.สผ.ต้องหารือกับเชฟรอนด้วยว่ามีแผนอย่างไรกับพนักงานของเขา  เพราะปัจจุบันเชฟรอน มีสัญญาสัมปทานอยู่ ก็ต้องใช้คน แต่คงไม่หมด ขึ้นกับว่าจะบริหารจัดการอย่างไร จากนั้นเราค่อยมาพิจารณาต่อไป

นอกจากการลงทุนพัฒนาแหล่งเอราวัณ และบงกชแล้ว ปีนี้ปตท.สผ.ยังมีโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งจะต้องลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 800 ล้านดอลลาร์ โดยจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายปีนี้ และเริ่มใส่เงินลงทุนในปีนี้เช่นกัน  จากเงินลงทุนทั้งโครงการ 20,000 ล้านดอลลาร์ และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ  ซึ่งภายในสิ้นเดือนนี้จะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย และจะขยายเฟสสองต่อไป

ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานจะเปิดสัมปทานรอบใหม่นั้น ปตท.สผ.ยังไม่เห็นแปลงที่จะเปิดให้สัมปทาน แต่เราพร้อมเข้าไปร่วมประมูลท้้งอ่าวไทยและบนบก

ขณะที่นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์ และพัฒนาธุรกิจ ปตท.สผ. กล่าวว่า การสัมปทานแบบระบบพีเอสซี ทำให้การดำเนินงานของเราเปลี่ยนไป เพราะแผนทุกอย่างจะต้องนำเสนอกระทรวงพลังงานก่อนดำเนินการอย่างแหล่งเอราวัณที่จะต้องเปลี่ยนถ่ายผู้พัฒนาจากเชฟรอนเป็นปตท.สผ.ต้องยื่นแผนทั้งหมด เช่น จะรื้อถอน หรือจะรักษาแท่นผลิตใดต่อกระทรวงพลังงานภายใน 45 วันและ อีก 45 วันเสนอเงินลงทุน ทำให้จะต้องทบทวนแผนการลงทุนในกลางปีนี้อีกครั้ง

นายวุฒิพล ท้วมภูมิงาม ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มงานโครงการผลิตและบริหารซัพพลายเชน ปตท.สผ. ย้ำว่า ต้นทุนจากการดำเนินการทั้งแหล่งเอราวัณ และบงกชถูกลงแน่นอน เพราะเดิมแยกปฏิบัติและแยกจัดซื้อจัดจ้าง

 

 

Avatar photo