Economics

เปิดรายงานผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2562

เปิดรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน มองตลาดการเงินยังผันผวนสูง หลังสงครามการค้ายังกดดัน ขณะที่ระบบการเงินยังมีความเสี่ยงเหตุการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนเริ่มปรับสูงขึ้น

รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งที่ 1/2562 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ดังนี้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน เห็นว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการปิดทำการของหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐ ความไม่แน่นอนในการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) รวมทั้งพัฒนาการของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนที่แม้คลี่คลายลงบ้างในระยะสั้นแต่มีโอกาสยืดเยื้อสูง การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินที่ยังมีความเสี่ยงแม้ทางการจีนได้ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดภาษีของภาคธุรกิจและครัวเรือน การลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (reserve requirement ratio) ควบคู่กับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเพื่อปรับลดหนี้ในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการฯจึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น การสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภค ประกอบกับข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น ข้อมูลตลาดแรงงานเพื่อประเมินแรงส่งของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในระยะข้างหน้า

คณะกรรมการฯ เห็นว่าตลาดการเงินโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า สาเหตุหลักมาจาก

1. ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก
2. มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
3. สถานการณ์ Brexit และการเมืองในกลุ่มประเทศยูโรที่อาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะกดดันราคาสินทรัพย์และค่าเงิน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ คณะกรรมการฯ ประเมินอุปสงค์ในประเทศช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกสาขาการผลิต รวมทั้งรายได้ของครัวเรือนที่ทยอยปรับดีขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยถ่วง การบริโภคสินค้าคงทนอาจมีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะรถยนต์ที่เติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สำคัญซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ขณะที่การส่งออกสินค้ามีความเสี่ยงด้านต่ำจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งแม้จะคลี่คลายลงในระยะสั้นแต่มีโอกาสยืดเยื้อสูง นอกจากนี้หากสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานยังไม่คลี่คลาย อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะต่อไปได้แม้ในปัจจุบันยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีความเสี่ยงด้านต่ำจากความผันผวนของราคาพลังงานและอาหารสดขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับสูงขึ้นตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีตส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ที่ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น และพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

ทั้งนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในบางจุดได้รับการดูแลในระดับหนึ่งด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ผ่านมา จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ติดตามผลของมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ด าเนินการไปและผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกระยะหนึ่ง

ระบบการเงินยังมีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคตได้ ทั้งการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่เริ่มปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่คุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รถยนต์มีแนวโน้มด้อยลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่ผ่านมา พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร(underpricing of risks) เช่น สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในระบบสหกรณ์มากขึ้นผ่านการให้กู้ยืมระหว่างกัน นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีการระดมทุนเพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีสัดส่วนสูงในตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ ธพ. และความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาทิ อุปสงค์จากต่างชาติในอสังหาริมทรัพย์ไทยการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อุปทานคงค้างในบางพื้นที่ ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังระดมทุนผ่านสินเชื่อ ธพ. และตราสารหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

MPC Minutes 12562 am7mhdwg p001 MPC Minutes 12562 am7mhdwg p002 MPC Minutes 12562 am7mhdwg p003 MPC Minutes 12562 am7mhdwg p004 MPC Minutes 12562 am7mhdwg p005

Avatar photo