Business

ออกกฎใหม่ ‘ตู้รถไฟ’ ต้องผลิตในไทยเท่านั้น บีบเอกชนผุดโรงงานแห่งแรก!!

“คมนาคม” เตรียมคลอดกฎใหม่ “ตู้รถไฟ” ต้องผลิตในไทยเท่านั้น หวังบีบเอกชนให้ผุดโรงงานแห่งแรกภายในปี 65 คาดหากสำเร็จจะประหยัดเงินได้ปีละ 2.2 หมื่นล้นบาท เพิ่มการจ้างงานอีก 6 พันล้านบาท

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมแนวทางการพัฒนาผลอุตสาหกรรมระบบราง วันนี้ (5 ก.พ.) ว่า วันนี้กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ร่วมกันหารือ เพื่อกำหนดหาแนวทางการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตระบบขนส่งมวลชนทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ตามมติของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เบื้องต้นกระทรวงอุตสาหกรรมประเมินว่า ใน 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความต้องการรถไฟและรถไฟฟ้าประมาณ 1,312 ตู้ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ใช้อยู่ 413 ตู้ เพื่อมารองรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง, โครงการรถไฟฟ้าในเมือง และโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งปริมาณดังกล่าวเพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางให้เกิดขึ้น

ระบบราง 190103 0009

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ศึกษาแนวทางการผลักดันให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมระบบรางขึ้นในประเทศไทย แนวทางเบื้องต้นคือ จะกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะต้องพิจารณาจากผู้ผลิตในประเทศ ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามโครงการส่งเสริมการผลิตรถไฟ,  รถไฟฟ้า, อุปกรณ์ หรือชิ้นส่วน จาก BOI เท่านั้น โดยตารางกำหนดเวลาและเงื่อนไข

1. ภายในปี 2563 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้มีการซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศ หรือบริษัทที่มีแผนจะลงทุนผลิตในประเทศเท่านั้น

2. ภายในปี 2565 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้มีการส่งมอบตู้รถไฟ และรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศ

3. ภายในปี 2567 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้ต้องส่งมอบตู้รถไฟ และรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทั้งหมด โดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40% ของราคารถไฟและรถไฟฟ้า

4. ตั้งแต่ปี 2568 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้ต้องส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้า รวมทั้งระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling System) ที่ผลิตในประเทศทั้งหมด และต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลักที่เป็นสาระสำคัญ 3 ส่วนได้แก่  ระบบตัวรถ, ระบบช่วงล่างของโครงสร้างตัวรถ, ระบบขับและควบคุม ยกตัวอย่างเช่น ตู้โดยสาร โบกี้ ระบบอาณัติสัญญาณ

“ช่วงปี 2563 กำหนดให้เอกชนจะต้องผลิตตู้รถไฟในประเทศ หรือแค่มีแผนจะผลิตก็ได้ แต่ในปี 2565 การจัดจัดซื้อระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้มีการส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศ แปลว่าเขาต้องมีโรงงานประกอบในประเทศไทย แต่ยังสามารถนำเข้าวัสดุและอุปกรณ์จากต่างประเทศได้อยู่” นายชัยวัฒน์ กล่าว

รถไฟ 2012

เสนอครม. เห็นชอบก่อนเลือกตั้ง

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแต่โรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์บนรถไฟ เช่น โรงงานใน จังหวัดปราจีนบุรี และ สระแก้ว แล้วส่งออกไปประกอบในโรงงานต่างประเทศ แต่ยังไม่มีการตั้งโรงงานประกอบในประเทศไทย

แต่ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังลงทุนโครงการระบบรางครั้งใหญ่ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะกำหนดนโยบายให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางขึ้นในประเทศ เพราะถ้าหากผ่านช่วงนี้ไปแล้ว ก็จะผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมได้ยาก

ดังนั้น กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยายามจะสรุปมาตรการข้างต้นและเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยมาตรการเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตต้องมาตั้งโรงงานในประเทศไทย รวมถึงสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ก่อนหน้านี้

“กระทรวงคมนาคมจะประชุมสรุปมาตรการทั้งหมดและเสนอเข้า ครม. ให้เร็วที่สุด ตั้งเป้าให้ทันรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นข้อสั่งการของที่ประชุม คจร. เพื่อกำหนดเป็นนโยบายรัฐให้หน่วยงานต่างๆ เช่น การรถไฟฯ, รฟม. จะต้องรับปฏิบัติตาม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ได้ทันการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ” นายชัยวัฒน์กล่าว

เกิดโรงงานแห่งแรกปี 65 ประหยัดเงิน 2.2 หมื่นล้าน 

ถ้าหากนโยบายประสบความสำเร็จก็คาดว่าจะเกิดโรงงานประกอบรถไฟแห่งแรกภายในปี 2565 โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีความเหมาะสมมากที่สุดในการตั้งโรงงาน เช่น จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา เป็นต้น

“ถ้ามีการผลิตรถไฟ 1,000 ตู้ ก็จะทำให้เกิดการลงทุน 500 บาทต่อปี แต่ถ้าเรากำหนดให้มี Local Content 40% ก็จะทำให้ลดการนำเข้า 18,000 บาทต่อ 1,000 ตู้ ประหยัดค่าบำรุงรักษา ค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและบุคลาการ 4,200 บาทต่อปี  ได้ประโยชน์เรื่ององค์ความรู้ที่ยั่งยืน” นายชัยวัฒน์กล่าว

รถไฟ 4

เพิ่มการจ้างงานในประเทศ 6 พันล้าน 

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่าปัจจุบันไทยซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้ามาจากผู้ผลิตหลายเจ้า เช่น CRRC ประเทศจีน, บอมบาร์ดิเอร์ ประเทศแคนนาดา, มิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น, ซีเมนส์ ประเทศเยอรมัน

ถ้าหากไทยผลักดันให้ผู้ผลิตเหล่านี้มาตั้งโรงงานในประเทศไทยได้ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์เรื่องการผลิตชิ้นส่วนและองค์ความรู้เรื่องการบำรุงรักษา  เป็นประเด็นหลักที่ไทยต้องการ และเป็นประโยชน์อย่างมากในการลงทุนระบบรางของประเทศ

สำหรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากมาตรการดังกล่าว  คือ ทำให้เกิดการลงทุนขั้นต่ำกว่า 500 ล้านบาท, สามารถจัดซื้อรถไฟในราคาลดลง 3.7% คิดเป็นมูลค่า 2,700 ล้านบาท, ก่อให้เกิดการจ้างงานที่ใช้ความรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งค่าจ้างแรงงานกว่า 6,000 ล้านบาท, สร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ 21,600 ล้านบาท

Avatar photo