COVID-19

ติด ‘โอไมครอน’ แล้ว ติดสายพันธุ์ย่อย ‘โอไมครอน BA.2’ ได้อีก

03แม้การติดเชื้อไวรัสโควิด จะทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคในระดับที่สูงอย่างมาก ทำให้หลายคนชะล่าใจ คลายการป้องกันโรคลงมา แต่ผลการศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” ไปแล้ว ยังสามารถติดซ้ำได้อีกครั้ง ด้วยสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างออกไปอย่าง “โอไมครอน BA.2”

เมื่อเร็ว ๆ นี้  สถาบันเซรุ่มแห่งเดนมาร์ก (เอสเอสไอ) เผยแพร่การศึกษาฉบับใหม่ ระบุว่าการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน ซ้ำอีกครั้งด้วยสายพันธุ์ย่อยที่ต่างจากเดิมนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้

การติดเชื้อในลักษณะดังกล่าว ดูเหมือนเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มคนไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด มีอายุน้อย และไม่มีผู้ติดเชื้อรายใดที่ป่วยหนัก หรือจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

โอไมครอน BA.2

ผลการศึกษา แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่ติดเชื้อไวรัส สายพันธุ์ย่อย BA.1 สามารถติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้อีกครั้ง หลังการติดเชื้อครั้งแรกไม่นานนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

“เราพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การติดเชื้อ BA.2 ซ้ำ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่สามารถเกิดขึ้นได้ ในระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น หลังจากการติด BA.1 ไปแล้ว”

ทำไม โอไมครอน BA.2 ถึงเป็นสายพันธุ์ล่องหน

เชื้อโอไมครอน BA.2 เป็นเชื้อที่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์มาตฐาน (BA.1) โดยนักวิจัยได้พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 7 เคสในแอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และแคนาดา

สาเหตุที่ต้องเรียกสายพันธุ์นี้ว่า โอไมครอนสายพันธุ์ล่องหน (Stealth Omicron) เพราะเป็นสายพันธุ์ที่สามารถหลบหลีกการตรวจหาเชื้อโควิด RT-PCR ได้ หรือพูดง่าย ๆ คือ แม้จะตรวจโควิดแล้วพบว่าติดเชื้อ แต่ก็ตรวจสอบไม่ได้ว่า เชื้อตัวนี้ เป็นสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่

แตกต่างจากโอไมครอน สายพันธุ์หลัก ที่มีลักษณะเด่นของการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในโปรตีนหนามสไปค์ S-gene หรือ “S-gene dropout” ที่ปกติแล้วจะสามารถตรวจจับได้ด้วย RT-PCR เพื่อยืนยันได้ว่า ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจริง ๆ

แต่สำหรับ BA.2 แล้ว ส่วนสำคัญนี้กลับหายไป หรือตรวจไม่พบยีนหนามอย่างที่ควรจะเป็น และแม้จะใช้การตรวจโควิดแบบ RT-PCR ก็ตาม ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ทำให้ผู้ตรวจอาจวินิจฉัยได้ว่า การติดเชื้อในครั้งนี้ อาจเป็นสายพันธุ์เบตา หรือเดลตาแทน ซึ่งก็เท่ากับว่าโอไมครอน BA.2 พยายามจะปลอมตัวเป็นสายพันธุ์อื่นทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่

โอไมครอน BA.2

BA.2 กระจายตัวเร็วกว่าสายพันธุ์มาตรฐาน BA.1

อีกแนวโน้มที่สำคัญคือ BA.2 อาจมีการกระจายตัว และการติดเชื้อได้ไวกว่า BA.1  เห็นได้จากในหลาย ๆ ประเทศ ที่พบว่าขณะนี้การติดเชื้อไวรัสโควิด สายพันธ์โอไมครอน BA.1 เริ่มลดน้อยลง ในขณะที่ BA.2 กลับเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี เหล่านักวิจัย กล่าวว่า ยังเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปหากจะระบุให้แน่ชัดว่าสายพันธุ์ย่อยใหม่ของโอไมครอนนี้ จะแพร่กระจายในลักษณะเดียวกันกับโอไมครอนสายพันธุ์มาตรฐานหรือไม่ บอกได้เพียงว่า มีความแตกต่างทางพันธุกรรมในบางจุด ที่อาจส่งผลต่อวิธีการทำงาน หรือวิธีแพร่เชื้อ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ไวรัส 2 สายพันธุ์นี้ BA.1 และ BA.2 อาจไม่แตกต่างกันมากนัก แต่หากเมื่อไหร่ที่ BA.2 วิ่งได้ไวกว่า BA.1 ก็จะยิ่งเสริมให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างได้ง่ายขึ้น

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ บอกด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และแม้ว่าในตอนนี้จะยังนับ BA.2 ว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอน แต่ด้วยความแตกต่างที่มีมากอย่างเห็นได้ชัด ในอนาคต BA.2 อาจกลายเป็น “สายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวใหม่” ก็ได้ หากพบว่าศักยภาพในการแพร่กระจายและความรุนแรงของเชื้อมีมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo