COVID-19

ย้อนรอย ‘เรื่องเด่นรอบโลก’ ปี 2564

แม้ว่าตลอดทั้งปี 2564 เรื่องใหญ่สุดที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ จะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีน และยา เพื่อรับมือกับเชื้อโรคร้ายเหล่านี้ แต่ทั่วโลก ก็ยังมีสถานการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่กลายมาเป็นประเด็นร้อนที่ผู้คนให้ความสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก

The Bangkok Insight รวบรวมเรื่องราวใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาให้ย้อนรำลึกกันอีกครั้ง ในช่วงส่งท้ายปีเช่นนี้

LINE ALBUM งานเพลทท้ายปี 2021 ๒๑๑๒๓๐

วิกฤติโควิดเกาะติดทั่่วโลก

ตลอดทั้งปี 2564 เรื่องที่ทุกคนต้องพูดถึง คือ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่วี่แววว่าจะยุติลงง่าย ๆ หลายประเทศต้องเจอกับการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จากการที่เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดลตา และโอไมครอน ที่มีอัตราการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี โลกเริ่มมีความหวังมากขึ้น จากการเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด ที่บรรดาบริษัทเวชภัณฑ์พากันเร่งพัฒนาออกมา ทั้งล่าสุด ยังมีการพัฒนายาเม็ดสำหรับต้านเชื้อไวรัสโควิดออกมาด้วย และยังมีการพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อให้ทำงได้ง่ายขึ้น และรู้ผลอย่างรวดเร็ว แม้จะยังมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ก็ช่วยคัดกรองการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง

shutterstock 1702753453 2

ผู้สนับสนุนทรัมป์ บุกอาคารรัฐสภาสหรัฐ  

วันที่ 6 มกราคม 2564 เหตุชุมนุมสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เกิดบานปลาย กลายเป็นการจลาจลบ่อมๆ  เมื่อเหล่าผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ต้องการพลิกผลการเลือกตั้งที่เขาอ้างว่า ตัวเองโดนปล้นชัยชนะไปนั้น  บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐ  ขณะที่สมาชิกรัฐสภากำลังประชุม เพื่อรับรองชัยชนะมในการเลือกตั้งของนายโจ ไบเดน

ผู้ก่อจลาจลได้ฝ่าวงล้อมของตำรวจ จากนั้นได้เข้ายึด ทำลาย  ฉกชิง และรื้อค้นข้าวของในพื้นที่หลายส่วนของอาคารรัฐสภาเป็นเวลานานหลายชั่วโมง โดยการบุกเข้าไปในอาคาร ทำให้เกิดการอพยพหลบภัย และปิดอาคารรัฐสภา โดยเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

shutterstock 1888654318

รัฐประหารเมียนมา

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมา สร้างความตกตะลึงให้กับชาวโลกอีกครั้ง ด้วยการก่อรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอ้างว่า เกิดการฉ้อโกงเลือกตั้งขึ้น หลังจากที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของอองซาน ซูจี กวาดชัยชนะมาอย่างถล่มทลาย

การก่อรัฐประหารดังกล่าว ทำให้เมียนมาตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์วุ่นวาย ซูจี และแกนนำพรรคเอ็นแอลดีจำนวนหนึ่ง ถูกจับกุม ประชาชนพากันออกมาเดินขบวนต่อต้านทั่วประเทศ รวมถึง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การเคาะหม้อ นัดกันไม่ออกจากบ้าน แห่ถอนเงินจากธนาคาร จอดรถทิ้งไว้บนถนน ซึ่งผู้เข้าร่วมประท้วงมีทั้งชาวบ้าน ข้าราชการ หมอพระสงฆ์ นางงาม ตำรวจบางส่วน

อย่างไรก็ดี กองทัพเมียนมา ตอบโต้การประท้วงดังกล่าว ด้วยการกวาดล้างอย่างรุนแรง ซึ่งสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง รายงานข้อมูลล่าสุด  นับถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2564  ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในเมียนมาแล้วอย่างน้อย 1,380 คน ถูกจับกุมดำเนินคดีอีก 8,298 ราย 39 ราย ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต

shutterstock 1918590017

วิกฤติเรือขวางคลองสุเอซ เสียหายหมื่นล้าน

วันที่ 23 มีนาคม 2564 เกิดเหตุเรือเอเวอร์ กิฟเวน เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 224,000 ตัน ถูกกระแสลมแรงจัดจากพายุฝุ่น พัดพาลำเรือแล่นชนฝั่ง คลองสุเอซ จนขวางลำคลองทำให้เรือสินค้านับร้อยลำ ไม่สามารถแล่นผ่านเส้นทางที่มีความสำคัญต่อการขนส่งสินค้าของโลกแห่งนี้ได้ ทำให้เกิดความเสียหายด้านการค้า สูงถึงชั่วโมงละ 400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 12,400 ล้านบาท โดยประเมินจากมูลค่าสินค้าที่ส่งผ่านคลองสุเอซทุกวัน

ความพยายามในการขยับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ลำยักษ์ให้ลอยลำได้อิสระอีกครั้ง ประสบความสำเร็จ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 โดยต้องใช้ เรือลาก และเรือขุดจำนวนหลายลำ เนื่องจากเรือยักษ์ลำนี้มีความยาวขนาดเท่ากับ 4 สนามฟุตบอล และขวางอยู่บริเวณปลายทางใต้ของคลองสุเอซ ทำให้เรือลำอื่น ๆ ไม่สามารถแล่นผ่านหนึ่งในเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่พลุกพล่านที่สุดในโลกแห่งนี้ได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้องค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์  ยื่นเรื่องเรียกร้องเงินชดเชยมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 31,200 ล้านบาท สำหรับความสูญเสียที่เกิดจากกรณีเรือเกยตื้นขวางคลอง และส่งผลให้ต้องระงับการเดินเรือในคลอง นาน 6 วัน

เรือ คลองสุเอซ

ตาลีบันผงาดปกครองอัฟกานิสถาน

หลังจากที่สหรัฐ ถอนกำลังทหารจำนวน 2,500 นาย ออกจากอัฟกานิสถาน เพียงไม่กี่วัน กลุ่มตาลีบัน ก็เดินหน้าเข้ายึดเมืองใหญ่ๆ และเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ในกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศไว้ได้ในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ซึ่งประธานาธิบดีอัชราฟ กานิ ตัดสินใจที่จะหลบหนีออกจากประเทศ เปิดทางให้ตาลีบันน ขึ้นมาปกครองอัฟกานิสถานโดยสะดวก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างหนักที่สนามบินในกรุงคาบูล จากการที่ชาวอัฟกานิสถานหลายพันคน พยายามที่จะเดินทางออกนอกบางประเทศ หลายคนที่สิ้นหวังเสียชีวิตลง เพราะตกลงมากระแทกพื้น จากความพยายามที่จะเกาะเครื่องบินไป มารดาจำนวนมาก พยายามที่จะอุ้มลูกโยนข้ามรั้วลวดหนามของสนามบิน เพื่อขอให้ทหารต่างชาติ ที่กำลังอพยพออกนอกประเทศ พาพวกเขาไปด้วย

PRC 194997225

โตเกียว โอลิมปิก 2020 ในที่สุดก็ได้จัด

หลังจากที่ต้องเลื่อนมาหลายครั้ง เพราะความกังวลถึงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในที่สุด มหกรรมกีฬาโลก “โตเกียว โอลิมปิก 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็สามารถจัดขึ้นมาได้ ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2564  จากกำหนดการเดิมในเดือนสิงหาคม 2563

โตเกียว โอลิมปิก 2020  จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “United by Emotion” หรือ ความรู้สึกหลอมรวมเป็นหนึ่ง  สะท้อนคุณค่าของกีฬาโอลิมปิก ที่ต้อนรับความแตกต่าง เน้นย้ำพลังของกีฬา ที่นำพาผู้คนซึ่งมีภูมิหลังแตกต่างให้มาเจอกัน และเปิดทางให้ทุกคนได้เชื่อมถึงกัน และเฉลิมฉลองร่วมกันในวิถีทางที่ก้าวข้ามความแตกต่าง

เจ้าภาพอย่างญี่ปุ่น เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมากจากการแสดงช่วงพิธีเปิด ที่นอกจากการนำเสนอด้านวัฒนธรรมแล้ว ยังมี “มังงะ” หรือ การ์ตูนญี่ปุ่น และเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นที่นิยมไปทั่วโลก เข้ามาร่วมด้วย โดยมหกรรมกีฬาครั้งนี้ มีสหรัฐ เป็นเจ้าเหรียญทอง คว้าไปได้ทั้งหมด 113 เหรียญ ตามด้วยจีน 88 เหรียญ และญี่ปุ่น 58 เหรียญ

shutterstock 2053031513

โลกร้อนปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

ปี 2564 เป็นอีกปีหนึ่ง ที่เกิดภัยธรรมชาติอย่างมากมาย สะท้อนให้เห็นถึง การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรง

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้ข้อตกลงที่ชาติสมาชิก 200 ประเทศ จะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยแต่ละประเทศ ก็มีเป้าหมายของตัวเอง เพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงที่วางไว้

ที่ประชุม ขอให้ประเทศต่าง ๆ ตีพิมพ์แผนปฏิบัติการภายในสิ้นปีหน้า โดยที่มีเป้าหมายสูงขึ้น ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573

shutterstock 2051001650

เยอรมนีเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในรอบ 16 ปี

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนี อำลาตำแหน่งที่เธออยู่มานาน 16 ปีอย่างเป็นทางการ โดยระหว่างที่เป็นผู้นำเยอรมนีนั้น แมร์เคิลถูกมองว่า เป็นบุคคลที่มีความสามารถในการจัดการกับวิกฤติต่าง ๆ

เธอยืนอยู่เคียงข้าง เป็นพันธมิตรกับประธานาธิบดีสหรัฐ 4 คน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ 5 คน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส 4 คน และนายกรัฐมนตรีอิตาลีอีก 8 คน จัดการกับวิกฤติใหญ่ ๆ ถึง 4 ครั้ง ทั้งเศรษฐกิจโลกถดถิย วิกฤติหนี้ยุโรป วิกฤติผู้ลี้ภัย และการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19

shutterstock 430497667

สี จิ้นผิง โดดเด่นเวทีโลก จ่อสร้างประวัติศาสตร์ ผู้นำ 3 สมัยจีน

ในช่วงปี 2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน มีบทบาทที่โดดเด่นอย่างมากในเวทีโลก ทำให้จีนแผ่ขยายอิทธิพลไปอย่างมาก โดยในปีนี้ ผู้นำจีน ยังได้ ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ซึ่งประธานาธิบดีสี  ได้เปรียบเทียบจีน และสหรัฐ เหมือนกับเรือยักษ์ 2 ลำที่ล่องอยู่ในมหาสมุทร

ผู้นำจีน บอกว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่เรือของทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องทรงตัวให้ดี เพื่อที่เรือใหญ่ทั้ง 2 ลำนี้ จะสามารถฟันฝ่าคลื่นยักษ์และเดินทางไปข้างหน้าด้วยกัน โดยไม่หลงทางหรือสูญเสียความเร็ว นอกจากนี้ เรือทั้ง 2 ลำจะปะทะกันน้อยลงด้วย

นอกจากนี้ ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ยังมีการพิจารณา ผ่านมติครั้งประวัติศาสตร์ ของพรรคที่มีอายุ 100 ปี ที่จะให้สีอยู่ในตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และจะทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของจีน นับตั้งแต่ประธานเหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

shutterstock 1353005396

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo