COVID-19

ระวัง! ไออาตา เตือน โดยสารเครื่องบิน เสี่ยงเพิ่ม 2-3 เท่า ติด ‘โอไมครอน’

“ไออาตา” เตือน ผู้โดยสารเครื่องบิน มีความเสี่ยงที่จะติดไวรัส “โอไมครอน” ถึง 2-3 เท่า ชี้ “ชั้นธุรกิจ” อาจมีความปลอดภัยมากกว่าชั้นประหยัด ที่มีผู้โดยสารหนาแน่นกว่า

นายเดวิด พาวเวล แพทย์ และที่ปรึกษาด้านการแพทย์ ของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) เตือนว่า ผู้โดยสารเครื่องบินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนระหว่างเที่ยวบิน

นายพาวเวล กล่าวว่า เที่ยวบินชั้นธุรกิจมีแนวโน้มปลอดภัยมากกว่าชั้นประหยัด ซึ่งมีคนใช้บริการหนาแน่นกว่า พร้อมแนะนำให้ผู้โดยสารหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกัน หรือสัมผัสบนพื้นผิว ที่มีการจับต้องบ่อย และหากต้องรับประทานอาหารบนเครื่องบิน ก็ควรสลับเวลากันในแถว เพื่อให้คนอื่น ๆ ยังสวมหน้ากากอนามัยอยู่ ในขณะที่อีกคนถอดหน้ากากเพื่อรับประทานอาหาร

โดยสารเครื่องบิน

อย่างไรก็ดี แม้การเดินทางด้วยเครื่องบินจะมีความเสี่ยง แต่การอยู่ในสถานที่ที่มีคนหนาแน่นมาก เช่น ศูนย์การค้าต่าง ๆ นั้น ก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงกว่ามาก เนื่องจากเครื่องบินสมัยใหม่นั้น จะมีระบบกรองอากาศเกรดเดียวกับในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ นายพาวเวลได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษามาตรการควบคุมโรค อาทิ การสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดบนเครื่องบิน การหมั่นล้างมือให้สะอาด และการรักษาระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่น ๆ

สิ่งที่ป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนให้ครบทุกเข็ม รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ตามคำแนะนำทางการแพทย์

สำหรับผู้ที่วิตกกังวลว่า ควรงดการนั่งเครื่องบินไปเลยหรือไม่นั้น นายพาวเวลกล่าวว่า แม้เครื่องบินจะเป็นสถานที่ปิด แต่ก็มีระบบระบายอากาศที่ไหลเวียนได้ดีมาก ดังนั้น การนั่งเครื่องบิน ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าการนั่งในบาร์ที่มีคนหนาแน่น หรือในฟิตเนสที่มีคนตะโกนออกเสียง และมีเหงื่อออกอยู่ตลอดเวลา

กระนั้นก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าการนั่งเครื่องบิน เป็นการคมนาคมที่มีเพื่อนร่วมทาง ซึ่งอาจจะมีบางจุดที่ควบคุมได้ยาก จึงสามารถสรุปได้ว่า การนั่งเครื่องบินจึงมีความเสี่ยง ผู้โดยสารควรได้รับการฉีดวัคซีน ตรวจเชื้อ สวมหน้ากาก และเว้นระยะห่าง และหากใครรู้สึกไม่สบาย ควรงดการโดยสารเครื่องบิน เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และผู้โดยสารคนอื่น

ส่วนประเด็นที่ว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์นั้น ดีกว่าหน้ากากผ้าหรือไม่ นายพาวเวลระบุว่า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีประสิทธิภาพดีกว่าหน้ากากผ้าราว 10-20%

โดยสารเครื่องบิน

ทั้งนี้ พนักงานดูแลบนเครื่องบินไม่จำเป็นต้องสวมชุดป้องกันเต็มรูปแบบ ทั้งชุด PPE รวมถึงเฟซชิลด์ปกป้องใบหน้า เพราะสถิติที่ผ่านมา พบการติดเชื้อจากผู้โดยสารไปยังพนักงานบนเครื่องบินค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อระหว่างกลุ่มผู้โดยสารด้วยกันเอง หรือกลุ่มพนักงานบนเครื่องบินด้วยกันเอง เพียงแต่ต้องเพิ่มความรัดกุมในการรักษามาตรการสกัดโรคดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และติดตามข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโอไมครอน

ในกรณีของผู้โดยสารที่เป็นเด็กนั้น นายพาวเวลระบุว่า ความเสี่ยงที่เด็กเล็กจะป่วยหนักจากการติดเชื้อระหว่างเดินทางนั้นอยู่ในระดับต่ำ เพราะโดยปกติเด็กมีโอกาสต่ำมากอยู่แล้ว ที่จะป่วยหนักจากโควิด แต่ก็มีความเสี่ยงที่พวกเขาอาจจะติดเชื้อที่ไม่รุนแรง และอาจแพร่เชื้อขณะเดินทาง เนื่องจากเด็กเล็ก อาจจะไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo