COVID-19

เร่งไขปริศนา ‘วัคซีนโควิด-19’ ตัวแปรสกัด ‘โอไมครอน’ ได้หรือไม่

“นักวิทยาศาสตร์” ทั่วโลกเดินหน้ารวบรวมข้อมูล เร่งหาคำตอบ วิธีรับมือ “โอไมครอน” โควิดกลายพันธุ์ตัวล่าสุด 

ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ระงับเที่ยวบินจากประเทศแอฟริกา ท่ามกลางความหวาดกลัวว่า จะมีการระบาดของระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 อย่างรวดเร็วนั้น นักวิทยาศาสตร์ ก็กำลังพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวแปร ของไวรัสกลายพันธุ๋ตัวใหม่ที่ชื่อว่า “โอไมครอน”

บางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้ คือการหาคำตอบว่า วัคซีนในปัจจุบันสามารถป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด

โอไมครอน

การค้นพบ โอไมครอน ในระยะแรกเป็นภาพที่ปะปนกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ตัวนี้ อาจแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า และสามารถหลบเลี่ยงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งต่อการฉีดวัคซีน และการติดเชื้อตามธรรมชาติ มากกว่าไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ก่อน ๆ

วัคซีนอาจป้องกันความเจ็บป่วย และการเสียชีวิตที่รุนแรงต่อไปได้ ถึงแม้ว่าอาจมีความจำเป็น ที่จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มกระตุ้นเพิ่ม เพื่อป้องกันคนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 2 ชนิด ได้แก่ ไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค และ โมเดอร์นา ถูกพัฒนาขึ้นมา ในแบบที่พร้อมจะปรับสูตรวัคซีนหากมีความจำเป็น

เจส บลูม นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ หรือการกลายพันธุ์ของไวรัส จาก ศูนย์วิจัยมะเร็งเฟรด ฮัทชินสัน (Fred Hutchinson Cancer Research Center) ในซีแอตเทิล  สหรัฐ กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องมีความระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับ ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน ตัวใหม่นี้ และเตรียมความพร้อมในการรับมือ ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ตัวใหม่นี้

“น่าจะในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราจะมีความรู้และความเข้าใจที่ดีขึ้นว่า เชื้อไวรัสตัวนี้แพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด และมีความจำเป็นมากเพียงใด ที่จะพัฒนาวัคซีนชนิดต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าไปอีก เพื่อให้มีประสิทธิภาพต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้” 

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มทำการตรวจสอบอย่างละเอียดสำหรับไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ก็ลดการเดินทางจากประเทศต่าง ๆ ทางตอนใต้ของแอฟริกา หลังจากมีการพูดถึง ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เป็นครั้งแรก แม้จะยังมีความเข้าใจไวรัสตัวนี้ในวงจำกัด แต่มีการพบการติดเชื้อไวรัสตัวนี้หลายราย ในหลายประเทศ และในยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อิสราเอล และฮ่องกง

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ของแอฟริกาใต้ เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อ โอไมครอน เกือบ 2,300 ราย ในจังหวัดกัวเต็ง  ซึ่งเป็นอัตราการติดเชื้อใหม่ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในช่วงเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว และยังพบว่า มีการตรวจเชื้อ ที่ให้ผลเป็นบวกเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 9%

นักวิทยาศาสตร์ มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อ ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เร็วกว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา

ทูลิโอ เดอ โอลิเวียรา นักพันธุศาสตร์ จากโรงเรียนแพทย์เนลสัน อาร์ แมนเดลา ในเมืองเดอร์บัน กล่าวว่า หลังจากที่มีการแจ้งข่าวถึงการพบไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ในแอฟริกาใต้ ประเทศต่าง ๆ ก็ตรวจพบไวรัสสายพันธุ์นี้ ภายในเวลาเพียง 36 ชั่วโมงเท่านั้น 

โอไมครอน

ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากการเตือนภัยครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้ ก็เร่งทดสอบวัคซีนโควิดที่มีอยู่ กับไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีนักวิทยาศาสตร์หลายสิบทีมทั่วโลก รวมถึง นักวิจัยจากไฟเซอร์ ไบโอเอนเทค และโมเดอร์นา ก็กำลังร่วมขบวนการไล่ล่าไวรัสตัวนี้ 

ไม่แน่ชัด วัคซีนโควิดต้าน โอไมครอน ได้เท่าไร

อย่างไรก็ดี ต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด อีก 2 สัปดาห์ กว่าที่นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ จะทราบถึงผลลัพธ์ที่ต้องการ แต่จากรูปแบบการกลายพันธุ์ของโอไมครอนแล้ว นักวิทยาศาสตร์แนะนำว่า วัคซีนโควิดที่มีอยู่ น่าจะมีประสิทธิภาพในการต่อต้าน สายพันธุ์โอไมครอน ได้น้อยกว่าการรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ก่อน ๆ  และจะต้านทานได้ในระดับใดนั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ทราบแน่ชัด 

“จากการศึกษาไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์อื่น ๆ เป็นจำนวนมากนั้น ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าการกลายพันธุ์เหล่านี้ จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และมีค่าเป็นกลางอย่างเห็นได้ชัด” บลูม จากศูนย์วิจัยมะเร็งเฟรด ฮัทชินสัน กล่าวถึงความสามารถของร่างกาย ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่เข้าไปสู่ร่างกาย

ขณะที่ ดร.ริชาร์ด เลสเซลส์ แพทย์ด้านโรคติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัยควาซูลู-นาทาล ในแอฟริกาใต้ ยังตรวจพบถึงการติดเชื้อโอไมครอนซ้ำ ในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว บ่งชี้ว่าไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ สามารถเอาชนะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ 

ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมา แสดงให้เห็นว่า โอไมครอน เกิดการกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง รวมถึง การกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่ง บริเวณโปรตีนหนามของไวรัส ซึ่งเป็นจุดที่วัคซีนจะฝึกร่างกายให้รู้จัก และโจมตี

มีการพบเห็นการกลายพันธุ์เหล่านี้บางส่วนมาก่อน บางคนคิดว่า การกลายพันธุ์บริเวณดังกล่าว ช่วยเพิ่มความสามารถของไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์เบตา ในการหลบหลีกวัคซีน ในขณะที่ส่วนใหญ่มักเป็นโรคติดต่อที่รุนแรงเหมือนเทอร์โบชาร์จเจอร์จากสายพันธุ์เดลตา

“การเดาที่ดีที่สุดของฉัน คือ สิ่งนี้ผสมผสานทั้งสององค์ประกอบเข้าด้วยกัน” เพนนี มัวร์  ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสจากสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติในแอฟริกาใต้ กล่าวถึงไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์นี้

แต่ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ยังมีการกลายพันธุ์ตรงส่วนหนาม (Spike) ถึง 26 ครั้ง เมื่อเทียบกับ 10 ครั้งในสายพันธุ์เดลตา และ 6 ครั้งในสายพันธุ์เบตา ทำให้หลายคนมองว่า จะทำให้ เป็นเรื่องยากขึ้นที่ระบบภูมิคุ้มกันจะจดจำ และขัดขวางโอไมครอน ในการโจมตี และเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์

โอไมครอน

“ยังมีอีกหลายอย่างที่เราไม่เคยศึกษามาก่อน แต่เมื่อดูที่ตำแหน่งบนหนาม พวกมันอยู่ในบริเวณที่เราทราบว่ามันมีภูมิคุ้มกันที่โดดเด่น” มัวร์ กล่าว ซึ่งหมายถึงส่วนต่าง ๆ ของโปรตีนตรงส่วนหนามของไวรัส ที่ขัดขวาง และป้องกันการทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ทดสอบเลือดหาคำตอบ

ทีมงานของมัวร์อาจจะยังอยู่ในจุดที่ไกลที่สุด ในการทดสอบว่า วัคซีนสามารถต้านทานไวรัสโอไมครอนได้ดีเพียงใด เธอและเพื่อนร่วมงานของเธอกำลังเตรียมที่จะทดสอบเลือดจากผู้ที่ได้รับภูมิคุ้มกันครบกับไวรัสโอไมครอนสังเคราะห์

การสร้าง pseudovirus ซึ่งเป็นไวรัสแบบสแตนด์อินที่มีการกลายพันธุ์ทั้งหมด ต้องใช้เวลา แต่ผลลัพธ์อาจปรากฏภายใน 10 วัน

เพื่อเลียนแบบสิ่งที่ผู้คนมักจะพบเจออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์อีกทีมหนึ่ง นำโดย อเล็กซ์ ซีกัล ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส จากสถาบันวิจัยสุขภาพแอฟริกา กำลังสร้าง ไวรัสโอไมครอน ที่มีชีวิต เพื่อนำไปทดสอบกับเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนภูมิคุ้มกันแบบครบโดส รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน

การเห็นผลลัพธ์เหล่านี้อาจใช้เวลานานกว่า แต่น่าจะทำให้เห็นภาพรวมของประสิทธิภาพของวัคซีนที่ครบถ้วนมากขึ้น

หากพิสูจน์แล้วว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยกว่ามากในการต่อต้าน ไวรัสโอไมครอน อาจมีความจำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน ขณะที่โมเดอร์นา ไฟเซอร์ ไบดอเอนเทค และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กำลังวางแผนที่จะทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด กับ ไวรัสโอไมครอน เวอร์ชันเทียม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสำหรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้

โดยเฉพาะวัคซีนชนิด mRNA ของโมเดอร์นา และ ไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี ที่สามารถปรับเปลี่ยนดัดแปลงได้อย่างรวดเร็วนั้น นักวิทยาศาสตร์ของไฟเซอร์กล่าวว่า สามารถปรับวัคซีนเวอร์ชันปัจจุบันได้ภายใน 6 สัปดาห์ และจัดส่งชุดแรกได้ภายใน 100 วัน ในกรณีที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์เพี่อหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันในวัคซีน

ดร.สตีเฟน โฮเก ประธานโมเดอร์นา กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มดำเนินการทันที หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับไวรัสโอไมครอน นับเป็นการทำงานอย่างรวดเร็วที่สุด เท่าที่บริษัทเคยตอบสนองต่อเรื่องทำนองนี้ 

แม้จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโอไมครอน แต่ก็เห็นได้ชัดว่า โอไมครอน เป็นภัยคุกคามต่อวัคซีนอย่างน่ากลัว โดยโฮเก มองว่า ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ล่าสุดนี้ เป็นเหมือนสัญญาณกระตุ้นเตือนต่อทุกคน 

เขาบอกด้วยว่า ในกรณีที่จำเป็น โมเดอร์นา สามารถปรับสูตรวัคซีนปัจจุบัน ได้ภายในเวลาประมาณ 2 เดือน และมีผลการรักษาภายในประมาณ 3 เดือน

โอไมครอน

ทั้ง โมเดอร์นา และ ไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ยังวางแผนที่จะทดสอบว่า การฉีดบูสเตอร์จะช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้เพียงพอหรือไม่ ที่จะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ วัคซีน โมเดอร์นา และ ไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยเพิ่มระดับแอนติบอดีได้อย่างมีนัยสำคัญ

กระนั้นก็ตาม มิเชล นุสเซนซ์ไวก์ นักภูมิคุ้มกันวิทยา จากมหาวิทยาลัยร็อคกี้ เฟลเลอร์ในนิวยอร์ก กล่าวว่า แอนติบอดีเหล่านั้นอาจไม่ได้ผลในวงกว้างในการทำซ้ำของไวรัสทุกครั้ง และอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เป็นค่าเชื้อของโอไมครอนเป็นกลางได้ทั้งหมด

ตามปกติแล้ว ผู้ที่หายจากการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 แล้ว แม้จะได้รับวัคซีนเพียงแค่เข็มเดียว ก็มักจะผลิตแอนติบอดีในวงกว้าง เนื่องจากร่างกาย สามารถจดจำไวรัสรุ่นต่าง ๆ ได้มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียงอย่างเดียว

เป็นที่ชัดเจนว่า ภูมิคุ้มกันแบบลูกผสม แบบที่ผู้คนได้รับ จากการที่ทั้งติดเชื้อ และฉีดวัคซีน นั้นเหนือกว่า และนั่นก็มีแนวโน้มมากที่จะรับมือกับโอไมครอนได้

นุสเซนซ์ไวก์ บอกด้วยว่า หลังจากฉีดวัคซีนสองโดสแล้ว ยังไม่เห็นถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น แต่ยังหวังว่า หลังจากให้ยา 3 โดสแล้ว อาจจะเกิดบางอย่างขึ้นมา โดยนุสเซนซ์ไวก์ และเพื่อนร่วมงาน กำลังเตรียมที่จะทดสอบโอไมครอน กับวัคซีนชนิด mRNA เช่นเดียวกับวัคซีนที่ผลิตโดย จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และแอสตร้าเซนเนก้า โดยหวังที่จะได้ผลออกมาในอีก 1 เดือนข้างหน้า 

กระนั้นก็ตาม แม้การพัฒนาวัคซีนเฉพาะของโอไมครอนได้สำเร็จภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ จะเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ แต่ก็ยังจะมีคำถามตามมา ถึงโอกาสในการผลิต และจัดจำหน่าย

โอไมครอน

เดอ โอลิเวียรา นักพันธุศาสตร์ จากโรงเรียนแพทย์เนลสัน อาร์ แมนเดลา ระบุว่า หากจำเป็นต้องมีเวอร์ชันใหม่เพื่อปกป้องผู้คนทุกหนทุกแห่ง บริษัทต่าง ๆ ควรให้บริการแก่ประเทศในแอฟริกาที่ต้องการมากที่สุด และสามารถซื้อได้น้อยที่สุดก่อน 

“อย่างน้อยแอฟริกาใต้สามารถจัดหาวัคซีนของตนเองได้ แต่ประเทศที่ยากจนกว่า เช่น ซูดาน โมซัมบิก เอสวาตินี และเลโซโท จะต้องการทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำ”

ไฟเซอร์ไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับวัคซีนราคาถูกสำหรับประเทศในแอฟริกา ขณะที่ โฮก ประธานโมเดอร์นา เผยว่า บริษัทได้บรรลุข้อตกลงกับสหภาพแอฟริกาแล้วในการส่งมอบวัคซีน 110 ล้านโดส ในราคา 3.50 ดอลลาร์ต่อครึ่งโดสของวัคซีน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight