COVID-19

WHO ถอด ‘อีตา-ไอโอตา-แคปปา’ จากรายชื่อ ‘สายพันธุ์โควิด’ ที่ต้องสนใจ

“อนามัยโลก” ปรับระดับความกังวลต่อโควิดกลายพันธุ์ 3 สายพันธุ์ “อีตา-ไอโอตา-แคปปา” จากสายพันธุ์โควิดที่ต้องสนใจ เหลือเพียงสายพันธุ์เฝ้าระวัง

องค์การอนามัยโลก (WHO) อัปเดตข้อมูลสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 โดยพบว่า มีการถอดรายชื่อสายพันธุ์แคปปา (B.1.617.1; อินเดีย) ไอโอตา (B.1.526; สหรัฐ) และอีตา (B.1.525) ออกจากรายชื่อ เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (VOI) โดยลดระดับลงมาเหลือเพียงสายพันธุ์ต้องเฝ้าระวัง (VUM)

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา WHO ก็เคยถอดสายพันธุ์เอปซิลอน (B.1.427/B.1.429; แคลิฟอร์เนีย) ซีตา (P.2; บราซิล) และธีตา (P.3; ฟิลิปปินส์) ออกจากรายชื่อ  VOI เช่นกัน

สายพันธุ์โควิด

สำหรับโควิด-19 อีตา (เดิม) มีการกลายพันธุ์บางจุดเหมือนกับสายพันธุ์เบตาและแกมมา ส่วนสายพันธุ์ไอโอตา (เดิม) ระบาดหนักในนิวยอร์ก และรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐ และพบในเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก ก่อนที่สายพันธุ์เดลตา จะเข้ามาครองสัดส่วนการระบาดส่วนใหญ่ไป

ชณะที่ สายพันธุ์แคปปา (เดิม) เป็นสายพันธุ์ย่อยของเดลตา (อินเดีย) มีการกลายพันธุ์ที่น่ากังวล คือ L452R, E484Q และ P681R ซึ่งเพิ่มความสามารถของโปรตีนหนามในการแพร่เชื้อและหลบหนีภูมิคุ้มกัน

WHO เคยให้เหตุผลการเปลี่ยนแปลงการจัดระดับโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ว่า สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ สามารถถูกจัดประเภทใหม่ได้ หากพิจารณาแล้วว่า สายพันธุ์ดังกล่าว ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มเติมที่สำคัญ ต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลกอีกต่อไป

สำหรับสายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม คือโควิด-19 สายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ที่มีข้อบ่งชี้บางอย่างว่า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต แต่หลักฐานทางระบาดวิทยายังไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพิ่มขึ้น และต้องมีการประเมินซ้ำเมื่อมีหลักฐานใหม่

ทั้งนี้ WHO หมายเหตุไว้ว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของสายพันธุ์เหล่านี้ อาจมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงอาจมีการเพิ่ม หรือลบรายชื่อสายพันธุ์จากแต่ละระดับเป็นระยะ

สายพันธุ์โควิด

ปัจจุบันมีเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ อยู่ 6 สายพันธุ์ ที่อยู่ในการติดตามอย่างใกล้ชิดของ WHO ได้แก่

สายพันธุ์โควิดที่ต้องกังวล 4 สายพันธุ์

  • สายพันธุ์อัลฟา พบครั้งแรก  ที่อังกฤษ
  • สายพันธุ์เบตา  พบครั้งแรก  ที่แอฟริกาใต้
  • สายพันธุ์แกมมา พบครั้งแรก ที่บราซิล
  • สายพันธุ์เดลตา พบครั้งแรก ที่อินเดีย

สายพันธุ์โควิดที่ต้องให้ความสนใจ 2 สายพันธุ์

  • สายพันธุ์แลมบ์ดา พบครั้งแรก ที่เปรู
  • สายพันธุ์มิว  พบครั้งแรกที่โคลอมเบีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo