COVID-19

เปิดผลวิจัยจีน ฉีด ‘วัคซีนซิโนฟาร์ม’ เด็ก 3-17 ปี ขาดข้อมูลป้องกัน ‘โควิดกลายพันธุ์’

เปิดผลวิจัยในจีน ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม  ให้เด็กอายุ 3-17 ปี พบ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เหมือนกับการฉีดให้ผู้ใหญ่ แต่ยังขาดข้อมูลในเรื่องการป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ต่าง ๆ 

บีบีซี รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ “แลนเซ็ต” วารสารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนซิโนฟาร์มในประเทศจีน ซึ่งเป็นการวิจัยระยะที่ 2 ในเด็กอายุ 3-17 ปี จำนวน 720 คน ผลการวิจัยพบว่ามีความปลอดภัย แต่ไม่มีข้อมูลต่อการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่

บทความในแลนเซ็ต ระบุว่า งานวิจัยที่ออกมา เป็นการวิจัยในเด็กจีน อายุตั้งแต่ 3-17 ปี โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน โดยการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ 3-5 ปี 6-12 ปี และ 13-17 ปี แต่ละกลุ่มจะมีการแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งได้รับวัคซีนในปริมาณโดสที่ไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 2, 4 และ 8 ไมโครกรัม

วัคซีนซิโนฟาร์ม

การทดลองระยะที่ 1 มีผู้เข้าร่วมในทุกกลุ่มอายุจำนวน 288 คน ส่วนการทดลองในระยะที่ 2 มีผู้เข้าร่วม 720 คน

ผลสรุปโดยรวมของการวิจัยทางคลินิกที่มี 2 ระยะ บ่งชี้ว่า วัคซีนซิโนฟาร์มมีความปลอดภัยในเด็กที่เข้าร่วมวิจัยอายุ 3-17 ปี และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากฉีดแล้ว 2 โดส ซึ่งมีระดับของแอนติบอดี เหมือนกันกับผลวิจัยในผู้ใหญ่

ส่วนผลข้างเคียงส่วนมากอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ได้แก่ อาการปวดในบริเวณที่ฉีดวัคซีน และมีไข้ แต่เป็นอาการชั่วคราวที่หายได้ในไม่กี่วัน ในจำนวนนี้มี 1 ราย พบการแพ้อย่างหนัก โดยเด็กรายนี้มีประวัติแพ้อาหาร

ผลการศึกษายังสนับสนุนปริมาณการให้วัคซีนในการทดลองระยะที่ 3 ว่าควรใช้ 4 ไมโครกรัม จำนวน 2 โดส ในกลุ่มวิจัยอายุที่ต่ำกว่า 18 ปี เพื่อศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายสรุปผลวิจัยบอกว่า งานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ ช่วงระยะเวลาในการติดตามผลที่สั้นแค่ 84 วัน ประวัติความปลอดภัยของวัคซีน และจำเป็นต้องมีการติดตามประเมินความคงที่ของแอนติบอดีที่ใช้เวลานานกว่านี้ ผู้เข้าร่วมทดลองที่มีความจำกัดด้านเชื้อชาติ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์

วัคซีนซิโนฟาร์ม

นอกจากนี้ ยังไม่มีการประเมินภูมิต้านทางของร่างกายโดยวัคซีนชนิดนี้ โดยเฉพาะการกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดที-เซลล์ ซึ่งทำให้ไม่มีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันที่ต้านทานต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ตัวอย่างเช่น B.1.1.7 (อัลฟา) และ B.1.617 (สายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อินเดีย)

ทั้งนี้ การวิจัยในระยะที่ 3 จะมีการดำเนินการในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo